"ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนก.ค. ยังคงปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน" นายสุพันธุ์ กล่าว
ทั้งนี้มีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการหดตัวของภาคส่งออกในช่วงทีผ่านมาจากความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ขณะที่ไทยยังไม่หลุดพ้นจากการถูกจัดชั้นปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier3 แม้ว่ารัฐบาลพยายามแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยในระยะยาว
อีกทั้งหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างปรับลดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการส่งออกในช่วงครึ่งหลังปี 58
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเห็นว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจในขณะนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและรองรับกับภาวะเศรษฐกิจที่จะกลับมาขยายตัวในะระยะต่อไป
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.2 เพิ่มขึ้นจาก 99.0 ในเดือนมิ.ย. โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนก.ค.นี้ ได้แก่ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนและเดินหน้าโครงการลงทุนภาครัฐเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงใช้มาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้เกิดการบริโภคของภาคเอกชน อีกทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งเร่งเจรจาการค้ากับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจเพื่อขยายตลาด และลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน และจัดทำฐานข้อมูลการค้าการลงทุนของประเทศคู่ค้าใหม่ และประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย