นอกจากนี้ การที่ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลง แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ไม่ได้อ่อนมากที่สุดทำให้ได้รับผลกระทบจากสินค้าไทยยังค่อนข้างแพง อีกทั้งผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ยางพารา ข้าว เหล็ก มีการปรับตัวลดลงและมูลค่าส่งออกลดลงตามด้วย ซึ่งโดยภาพรวมปีนี้การส่งออกไทยคงไม่กลับขึ้นมาเป็นบวกได้
ขณะที่ ค่าเงินบาทในปีนี้มองว่าอาจจะเห็นอยู่ที่ 37 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่ากว่าเป้าที่ตั้งไว้ 35 บาท/ดอลลาร์เป็นผลมาจากการที่แต่ละประเทศได้มีการปรับค่าเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของตัวเอง และเป็นผลมาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาแข็งแกร่งทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น อีกทั้งการลดค่าเงินหยวนของจีนส่งผลกระทบต่อค่าเงินทั่วโลกให้มีความผันผวน และส่งผลกระทบต่อการค้าขายของไทยในระยะสั้นด้วย ราคาสินค้าไทยแพงขึ้นเมื่อส่งไปจีน
"ตอนนี้ถ้าเราจะแข่งขันส่งอออกกับประเทศอื่นได้ เราควรมีการปรับโครงสร้างการส่งออกในประเทศจากการที่เราผลิตสินค้าต้นน้ำ เปลี่ยนมาเป็นสินค้าประเภทที่ให้มูลค่าเพิ่ม แต่อาจจะต้องใช้เวลาหลายปี ส่วนค่าเงินบาทตอนนี้แม้จะลดไปมากแล้ว แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นยังอ่อนค่าไปน้อยกว่าเขา" น.ส.ธีรินทร์ กล่าว
สำหรับผลกระทบภาคการท่องเที่ยว น.ส.ธีรินทร์ คาดว่า จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากในอดีตค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงไม่ได้เป็นการกำหนดพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีน แต่ปัจจัยสำคัญคือ การเติบโตของเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้สถานการณ์ระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์ในสัปดาห์ก่อนมองว่าจะมีผลกระทบกับภาคท่องเที่ยวในระยะสั้น แต่ในระยะยาวอาจจะไม่ได้มีผลกระทบมากนัก เพราะปัจจุบันสถานการณ์เริ่มกลับสู่ภาวะปกติและมีการตรวจเข้มมากขึ้น ประกอบกับในช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี จะเป็นช่วงไฮซีซั่นที่นักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาอีกครั้ง
น.ส.ธีรินทร์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์คาดว่าการค้าโลกในอีก 5 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น ด้วยบริบทแวดล้อมหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่จะก้าวขึ้นมาเป็นหัวจักรสำคัญตัวใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าโลก จากกำลังซื้อที่สูงขึ้นและการก้าวเข้าสู่สังคมเมือง รวมทั้งการค้าขายระหว่างกันเองภายในกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง 2) ความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งจะส่งผลให้สินค้าบางประเภทโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นกว่าสินค้ากลุ่มอื่น และ 3) การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านการค้าระหว่างประเทศในหลากหลายมิติ ทั้งนี้ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว SCB EIC แนะ 3 กลยุทธ์ที่ช่วยปรับเกมการค้าของไทย
หนึ่งในกลยุทธ์ที่ช่วยยกระดับศักยภาพการผลิตและเอื้อให้ภาคส่งออกเติบโตได้อย่างเข้มแข็งในระยะยาว คือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ โดย SCB EIC พบว่า agro-based และอาหารแปรรูป คืออุตสาหกรรมซึ่งมีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้เข้าประเทศมากขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความผันผวนด้านราคาจากการส่งออกเป็นสินค้าโภคภัณฑ์หรือสินค้าเกษตรแปรรูปขั้นต้นอีกด้วย ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ภาคการผลิตเท่านั้น ภาคบริการเองก็สามารถยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้งการนำเสนอบริการในรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ยังพบว่าหัวใจสำคัญสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยมูลค่าเพิ่มมาจากปัจจัยพื้นฐาน 3 ประการได้แก่ 1) การลงทุนด้าน R&D เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง 2) การพัฒนาคนและผลิตนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดแรงงาน และ 3) การใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคเพื่อขยายโอกาสทางการค้าการลงทุน
การเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาคเป็นอีกกลยุทธ์ที่จะเข้ามาเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจไทย โดยหัวใจสำคัญ 5 ประการของการเป็นศูนย์กลางการค้าคือ 1) ที่ตั้งที่เชื่อมโยงระหว่างแหล่งผลิตและตลาดเป้าหมาย 2) ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ 3) ระบบศุลกากรที่เป็นมิตรต่อการค้า 4) สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จูงใจและเอื้อต่อการค้าการลงทุน และ 5) สินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งการเป็นศูนย์กลางการค้านั้น นอกจากจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของภาคส่งออกและภาวะเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ยังมีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ต่อหัวประชากรและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ประเด็นเร่งด่วนที่ไทยต้องเร่งพัฒนาและปรับปรุงคือ การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบขนส่งและคมนาคม รวมไปถึงการปรับปรุงระบบศุลกากรให้มีความเป็นมิตรต่อการค้ามากยิ่งขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจเองก็ต้องแสวงหาช่องทางและโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่
ในขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจไทยต้องใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจเชิงรุกเพื่อให้รับกับการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดย SCB EIC มองว่าการปรับโมเดลทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ การใช้เทคโนโลยีชำระค่าสินค้าและบริการออนไลน์ หรือแม้แต่การสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลได้ อย่างไรก็ตาม ไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นอันดับแรกเพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จากการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล