ขณะที่รัฐบาลจีนมีการสนับสนุนให้บริษัทในประเทศออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งมองว่าไทยจะได้ประโยชน์จากความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการคมนาคมในอาเซียน ซึ่งทำให้นักลงทุนจีนมีความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยขณะนี้มีนักธุรกิจจีนลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ปัจจุบันมีอยู่ราว 70 โรงงาน คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 4 พันล้านเหรีญสหรัฐฯ คาดว่าใน 7-10 ปีข้างหน้าจะมีบริษัทเอกชนจีนเข้ามาตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะเพิ่มขึ้นเป็น 500 โรงงาน
นายธนากร เสรีบุรี ประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมไทย-จีน และรองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) กล่าวา จีนยังเป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับการขยายตลาดและการลงทุนของภาคเอกชนไทย แม้ว่าเศรษฐกิจในช่วงนี้อาจมีปัญหา แต่ทางการจีนเชื่อว่าปีนี้ยังสามารถรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไว้ที่ราว 7% ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
ขณะที่จีนเองก็มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเชื่อว่าเป็นเพราะปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์ของไทยที่ถือว่าอยู่ในจุดที่มีการเชื่อมโยงไปได้หลากหลายพื้นที่ และรูปแบบวัฒนธรรมไทยไม่ต่างไปจากจีนมากนัก รวมถึงไทยมีประสบการณ์การร่วมทุนกับจีน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้การลงทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นายธนากร กล่าวว่า เครือซีพี มองการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเป็นตัวเลข 2 หลักมาโดยตลอด โดยจีนดำเนินนโยบายตามแผนตั้งแต่ปี ค.ศ.1978 ที่มีการเปิดประเทศ เพื่อสร้างการเติบโต มั่นคง ให้กับประเทศ ทั้งการค้า การลงทุน และจนมาถึงปัจจุบันก็จะเห็นได้ว่าจีนได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างบุคลากร ที่เป็นคนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ จึงเห็นได้ว่าขณะนี้จีนมีนโยบายเดินไปข้างหน้า และออกไปข้างนอกอย่างชัดเจน
"การเติบโตของเศรษฐกิจจีนถือว่ามีการเติบโตที่ใกล้เคียงกับสหรัฐฯแล้ว ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วอาจจะมีผลเสียหายได้ โดยปีนี้จีนมีการประกาศว่าจะเติบโตได้ 7% ก็มองว่าเป็นการเติบโตอย่างมั่นคง จากปัจจัยที่จีนมองถึงการพัฒนา การลงทุน และมองการแข่งขันในระดับโลกมากขึ้น"นายธนากร กล่าว
สำหรับการลงทุนในประเทศจีน ที่ผ่านมาเครือซีพีได้เข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศจีนที่สร้างรายได้ในสัดส่วน 1 ใน 3 ของรายได้รวม และปีนี้ก็ยังคงมีการเดินหน้าลงทุนในจีนต่อเนื่อง ด้วยการขยายสาขาค้าปลีกเพิ่มวางเป้าหมายสิ้นปี 58 จะมีสาขาทั้งสิ้น 100 แห่ง จากเดิม 90 แห่ง เพราะมองตลาดค้าปลีกยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก แม้ว่ายอดค้าปลีกอาจจะลดลงเล็กน้อยจากปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลต่ออำนาจการซื้อ แต่บริษัทฯยังมั่นใจจะสามารถเติบโตได้
ทั้งนี้ เครือซีพีคาดว่ารายได้รวมปีนี้น่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% โดยจะเน้นกลยุทธ์ในเรื่องของอาหาร และการรุกตลาดออนไลน์มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุคปัจจุบัน
นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า ส.อ.ท.ยินดีเป็นตัวกลางที่จะประสานให้นักธุรกิจไทยและจีนได้มีการเจรจาเพื่อให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจกัน โดยปัจจุบัน ส.อ.ท.มีสมาชิกทั้งสิ้น 44 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 10 สถาบัน เช่น สถาบันพลังงาน สถาบันสิ่งแวดล้อม พัฒนาขีดความสามารถและนวัตกรรม เป็นต้น อีกทั้งยังมีสภาอุตสาหกรรมอีกราว 74 จังหวัด ซึ่งการที่นักธุรกิจจีนจะเข้ามาลงทุนในไทยนั้นจะสร้างผลกำไรแก่บริษัทได้ เพราะจากที่ผ่านมาผู้ที่เข้ามาลงทุนกว่า 90% ไม่เคยขาดทุน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่ถือว่ามีการเติบโตที่ดี มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงภาคเอกชนไทยมีความแข็งแกร่ง และมีอุตสาหกรรมที่นับได้ว่าติดอันดับ TOP10 ของโลก เช่น CP ,ปตท.,ThaiBev เป็นต้น
ขณะที่การฟ้องร้องของบริษัทต่างประเทศก็เกิดขึ้นน้อยมาก เนื่องด้วยคนไทยมีความนิยมชมชอบชาวต่างชาติ อีกทั้งปัญหาทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยน้อยมาก แต่อาจจะได้รับผลจากการไม่ต่อเนื่องของรัฐบาลที่อาจเป็นสาเหตุให้มีการปรับเปลี่ยนนโนบาย ทำให้การดำเนินงานในหลายภาคส่วนเกิดความล่าช้าบ้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่เป็นโจทย์ในการแก่ไขของรัฐบาลต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมแก่การลงทุนจากการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน
ด้าน Mr.Zhu Xijun General Manager Executive Director of China Railway Construction (Southeast Asia) Co.,Ltd. กล่าวว่า การพัฒนาระบบขนส่งในประเทศไทยภายใต้กรอบความร่วมมือโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ คาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนต.ค.58 เป็นต้นไป และน่าจะใช้เวลาในการดำเนินการเป็นระยะเวลา 3 ปี จากนี้ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 62 เดือนต.ค. ถ้าไม่มีอุปสรรคคนไทยจะได้ใช้บริการอย่างแน่นอน
พร้อมกันนี้แผนการก่อสร้างรถไฟทางคู่ไทย-จีน ระยะทางรวม 873 กิโลเมตร ได้กำหนดความเร็วสูงสุดที่ 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่รถไฟความเร็วสูง จะทำความเร็วได้สูงสุด 250-300 กิโลเมตรต่อขั่วโมง โดยมองว่าหลังจากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะส่งผลทำให้ประชาชนจีนเดินโดยสารมาไทยได้ถึง 6 ล้านคน จากปัจจุบันมีชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในไทยแล้วกว่า 4.7 ล้านคน ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการค้าระหว่างประเทศ การขนส่งที่มีต้นทุนที่ถูกลง การยกระดับสินค้าเกษตรไปสู่ประเทศจีนมากขึ้น
ขณะที่ก็มีแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมต่อจากไทย ไปสิงค์โปร มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนไปสู่อาเซียนต่อไป