อนึ่ง วันนี้กระทรวงพาณิชย์ แถลงการส่งออกของไทยในเดือน ก.ค.58 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยหดตัว 3.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (ตลาดคาดการณ์ที่ติดลบ 3.85% ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะติดลบ 3.9%) โดยมีแรงฉุดมาจากกำลังซื้อในประเทศคู่ค้าสำคัญ (โดยเฉพาะจีน และเพื่อนบ้านอาเซียน) ที่ยังอ่อนแอ และจากราคาสินค้าส่งออกสำคัญหลายรายการที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
แม้ว่าอานิสงส์จากปัจจัยบวกของเงินบาทที่น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่าตลอดช่วงที่เหลือของปี 2558 อาจช่วยบรรเทาแรงกดดันสำหรับธุรกิจส่งออกได้เพียงบางส่วน เพราะแม้จะทำให้รายรับในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น แต่การที่สกุลเงินของประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทย (อาทิ เงินหยวนของจีน เงินด่องของเวียดนาม เงินริงกิตของมาเลเซีย เงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย) ซึ่งน่าจะมีทิศทางที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ฯ และเงินสกุลหลักอื่นๆ เช่นเดียวกัน ก็อาจทำให้สินค้าส่งออกของไทยไม่ได้เปรียบทางด้านราคาเมื่อเทียบกับคู่แข่งมากนัก ขณะที่การฟื้นตัวของสินค้าส่งออกสำคัญบางหมวด อาทิ การส่งออกในรถยนต์ก็น่าจะไม่สามารถหนุนให้ภาพรวมของภาคส่งออกไทยฟื้นตัวได้รวดเร็วนัก
ความเสี่ยงจากภาวะความผันผวนในตลาดการเงินโลก ในช่วงที่จังหวะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ งวดใกล้เข้ามา ผนวกกับความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นต่อภาพความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีนและการดิ่งลงอย่างหนักของตลาดหุ้นจีน ทั้งสองปัจจัยนี้จะมีผลต่อเนื่องมาสู่เสถียรภาพทางการเงินของประเทศเกิดใหม่หลายประเทศ รวมทั้งมีผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก
การทรุดลงของราคาโภคภัณฑ์จะกระทบต่อไทยทั้งในทางตรงผ่านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่งออก และทางอ้อมผ่านอุปสงค์ในประเทศคู่ค้าของไทยที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งไทยพึ่งพาการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่มีรายได้จากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ (ทั้งในภูมิภาคอาเซียน ตะวันออกกลาง แอฟริกา โอเชียเนีย และกลุ่ม CIS) สูงถึงกว่า 25% ของตลาดส่งออกทั้งหมด
สำหรับสินค้าส่งออกของไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกในระยะนี้ ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาล น้ำมันสำเร็จรูป และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มข้าวและมันสำปะหลัง ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ซึ่งหากทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงตัวในระดับต่ำใกล้เคียงปัจจุบันต่อเนื่องไปถึงสิ้นปี อาจกระทบทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยหายไปถึง 1,500-2,500 ล้านดอลลาร์ฯ (หรือ 53,000-88,000 ล้านบาท)
"ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจะส่งผลกดดันต่อภาคการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2558 ขณะที่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในสถานการณ์สงครามค่าเงิน (Currency War) ที่ประเทศต่างๆ มีค่าเงินที่อ่อนลงมาในทิศทางเดียวกัน คงไม่ได้ช่วยให้ความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกของไทยดีขึ้นจากผลในเรื่องค่าเงินได้มากนัก ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่การส่งออกของไทยในปี 2558 อาจหดตัวสูงขึ้นมาที่ร้อยละ 4.0 (คาดการณ์เดิมอยู่ที่หดตัวร้อยละ 1.7)" เอกสารเผยแพร่ระบุ