เนื่องจากที่ผ่านมาได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และความกังวลของหลายฝ่ายเกี่ยวกับแนวทางการระบายข้าวคุณภาพต่ำเข้าสู่อุตสาหกรรมตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) โดยมีความเห็นว่าข้าวเกรด C และข้าวเสียที่อยู่ในคลังกลางนั้นอาจไม่เสียหายทั้งกอง รัฐควรคัดแยกคุณภาพข้าวก่อนตัดสินใจว่าจะระบายไปสู่อุตสาหกรรมใด เพื่อเปิดโอกาสให้แก่ผู้ผลิตอาหารสัตว์หรืออุตสาหกรรมประเภทต่างๆ สามารถซื้อได้ในราคาที่สูงกว่าการยกคลังขายให้อุตสาหกรรมใดเป็นการเฉพาะ
"กรมฯ ได้รับฟังและหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางรอบคอบ เพื่อให้การดำเนินการระบายข้าวเกรด C และข้าวเสียในสต็อกของรัฐนั้น เป็นไปอย่างรัดกุม โปร่งใสและรักษาผลประโยชน์สูงสุดของภาครัฐ รวมทั้งสามารถชี้แจงต่อสาธารณชนได้" นางดวงพร กล่าว
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า หลังจากนี้จะร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการอิสระ นำผลการทดสอบจากการลงพื้นที่มาประมวลวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของวิธีการระบายข้าวเกรด C และข้าวเสีย ตามข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าระหว่างการคัดแยกข้าวก่อนนำมาเปิดประมูลกับการระบายข้าวแบบยกคลัง แนวทางใดจะเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐ ทั้งนี้จะได้นำเสนอผลการศึกษาดังกล่าวต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวพิจารณา ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุม นบข. พิจารณาในเดือนกันยายนศกนี้
"นบข.มีนโยบายที่ชัดเจนว่าการระบายข้าวคุณภาพต่ำ/ข้าวเสียเข้าสู่อุตสาหกรรมจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและคำนึงถึงผลกระทบในหลายมิติ ทั้งต่อวงการค้าข้าว สินค้าเกษตรอื่นๆ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งไม่ต้องการให้ข้าวดังกล่าวรั่วไหลเข้าในระบบการค้าข้าวปกติ ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อระบบการค้าข้าวไทยทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งภาพลักษณ์ที่ดีของข้าวไทย โดยจะนำผลการทดสอบในวันนี้ไปประกอบการกำหนดแนวทาง/มาตรการระบายข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมที่เหมาะสมเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อตลาดและรักษาประโยชน์สูงสุดของรัฐและประชาชน" นางดวงพร กล่าว