2.สร้างรายได้เกษตรกรและผู้มีรายได้ร้อย รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเร่งยกระดับราคาสินค้าเกษตรด้วยการผลักดันการส่งออก เพิ่มมูลค่าจากการแปรรูปสินค้า เร่งพัฒนาธุรกิจท้องถิ่น โดยพัฒนาสินค้าโอทอป สินค้าเกษตรอินทรีย์ และสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เพราะมีมูลค่าเพิ่มมากกว่าสินค้าเกษตรทั่วไป เป็นต้น
3.เร่งผลักดันการส่งออกสินค้าไทย โดยจะทำงานร่วมกับภาคเอกชน และบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นให้ใกล้ชิดมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกอย่างทันที และเร่งแก้ปัญหาอุปสรรคด้านการส่งออก คาดว่าคณะกรรมการพัฒนาการส่งออก ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานจะเริ่มประชุมนัดแรกในเร็วๆ นี้ เพื่อแก้ปัญหาคอขวดของการส่งออกไทย รวมถึงเจรจากับประเทศ และภูมิภาคต่างๆ เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคทางการค้า ทำยุทธศาสตร์การค้าอาเซียแบบเจาะลึกเป็นรายประเทศ เร่งพัฒนาการค้าบริการให้มีมูลค่าเพิ่ม และพัฒนานักรบเศรษฐกิจใหม่ โดยพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ให้เข้มแข็ง ส่งเสริมการทำธุรกิจผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
4.การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ และปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ ที่ล้าสมัย โดยในเร็วๆ นี้ จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ที่กระทรวงฯ ได้จัดทำเสร็จแล้ว ส่วน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 คงต้องพิจารณาก่อนว่าจะปรับปรุงใหม่อย่างไร
"ภายใน 3 เดือนแรกของทีมเศรษฐกิจที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีมนั้น ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์จะเห็นการแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ก่อน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาปากท้อง ยกระดับราคาสินค้าเกษตร และการส่งออก แต่คงไม่สามารถชี้วัดได้ว่าเกษตรกรจะขายสินค้าเกษตรได้ในราคาสูงขึ้นเท่าไร หรือกินดีอยู่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ แต่น่าจะเห็นภาพชัดในด้านการหาตลาดส่งออก การผลักดันการส่งออก" นางอภิรดี กล่าวต
ด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ภารกิจของทีมเศรษฐกิจชุดนี้ คือการสร้างสมดุลระหว่างปัจจัยภายในและภายนอกประเทศให้กับเศรษฐกิจไทย เพราะปัญหาขณะนี้คือไทยพึ่งพาการส่งออกมาก ดังนั้นเมื่อโลกเกิดปัญหา เศรษฐกิจไทยก็เกิดปัญหาตาม หากสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจภายใน ทั้งในภาคประชาชน ภาคธุรกิจขนาดเล็ก แม้โลกจะเกิดปัญหา แต่เศรษฐกิจไทยจะยืนหยัดอยู่ได้ ขณะเดียวกันไทยต้องส่งออกสินค้าบริการให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันยังมีการส่งออกน้อย ทั้งที่ภาคบริการของไทยเข้มแข็งมาก
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลชุดนี้ปฏิเสธนโยบายประชานิยมมาโดยตลอด แต่เหตุใดนายสมคิด จึงหันมาใช้กลไกกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเป็นนโยบายประชานิยมเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก นายสุวิทย์ กล่าวว่า ตามตำราเศรษฐศาสตร์มีเรื่องนโยบายประชานิยมทั้งสิ้น เพียงแต่จะมีระดับการใช้เงินต่างกัน มีทั้งประชานิยมแบบอ่อน แบบเข้ม ไม่มีรัฐบาลใดในโลกไม่ใช้นโยบายประชานิยม เพียงแต่ต้องใช้ให้ถูกจังหวะ ไม่ใช้เงินมากเกินไป และต้องใช้ในระยะสั้นเท่านั้น
"อย่างเงินกองทุนหมู่บ้าน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนเอาเงินไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย แต่เพื่อให้นำไปใช้ทำประโยชน์ เช่น ลงทุนในท้องถิ่น เพื่อให้ออกดอกผลเพิ่มขึ้น" รมช.พาณิชย์ กล่าว