ผลจากการสำรวจที่น่าสนใจ ได้แก่ บริษัทขนาดใหญ่มีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานมากกว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม โดยอัตราการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียนสุทธิระหว่างบริษัททั้งสองประเภทนี้อยู่ในระดับที่แตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ นับจากเกิดวิกฤตการเงิน เพราะบริษัทขนาดใหญ่ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการเงินทุนได้ดีกว่า
เอเชียมีอัตราการเติบโตของทุนหมุนเวียนสูงขึ้นจากระดับ 26% เป็น 33% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจของโลก (Shift in global economic power) จากฝั่งตะวันตกมายังตะวันออก ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น แต่กลับพบว่า ประสิทธิภาพการบริหารจัดการเงินทุนของบริษัทในเอเชียยังต่ำ สะท้อนจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานอยู่ที่ 73.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นทั่วโลก
สถานการณ์ของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมในไทยเวลานี้น่าเป็นห่วง เพราะสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศหดตัวตามไปด้วย และมูลค่าการส่งออกก็แทบไม่เติบโตหรืออาจลดลงเช่นเดียวกัน ขณะที่ฐานทุนของเอสเอ็มอีไทยนั้นค่อนข้างจำกัดและมีต้นทุนสูงกว่า ทำให้การบริหารเงินทุนหมุนเวียนคล่องตัวน้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ แม้ว่าภาครัฐจะพยายามออกมาตรการให้ความช่วยในด้านต่างๆ ก็ตาม
ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่ ยังขาดแบบแผนการบริหารเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพและการจัดทำงบการเงินที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากงบการเงินจะช่วยให้ผู้ประกอบการเห็นรายรับ รายจ่าย รู้ความเคลื่อนไหวของกระแสเงินสดของกิจการได้ชัดเจนมากขึ้น จึงทำให้สามารถวางแผนบริหารกระแสเงินสดและเงินทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ