ในช่วงระยะหลังมานี้ประเทศไทยไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาตั้งแต่หลังเกิดวิกฤติน้ำท่วมในปี 54 และเกิดปัญหาการเมืองภายในประเทศ หรือหากจะมีเข้ามาก็เป็นเพียงแค่การลงทุนขนาดเล็ก เช่น การต่อยอดการผลิต ประกอบกับ การลงทุนยังกระจุกตัวอยู่ในบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมด้านสื่อสารโทรคมนาคม พลังงานทดแทน เป็นต้น
“ถ้าจะมองเรื่องการแก้ปัญหาการส่งออก คงไม่ใช่เพียงแค่การหาตลาดใหม่ในช่วงสั้นๆ แต่ต้องเป็นเรื่องของการทำให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ ในผลิตภัณฑ์ที่เรามีความสามารถในการแข่งขัน การลงทุนที่จะตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในระยะปานกลางและระยะยาว นี่ถึงจะเป็นการแก้ปัญหาการส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน"นายวิรไท กล่าว
นายวิรไท กล่าวว่า การวางยุทธศาสตร์ต้องประกอบด้วย 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.การกำหนดยุทธศาสตร์ที่ต้องมีทิศทางที่ชัดเจน และ 2.การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เกิดประสิทธิผล
ทั้งนี้ จะเห็นว่าที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญในการวางแผนยุทธศาสตร์แค่ว่าจะทำในทิศทางไหน แต่หลายครั้งจะเห็นว่าแผนไม่ได้ถูกนำไปใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติจริง ดังนั้น จึงต้องมีกลไกที่จะต้องให้ความสำคัญมากขึ้น เช่น ทบทวนกลไกระบบราชการในปัจจุบันว่าเหมาะสมหรือไม่ มีช่องทางหรือวิธีการอื่นที่จะสร้างการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงหลังที่จะให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้นและให้ภาครัฐเป็นตัวผลักดัน
“แต่เดิมเราคิดว่าประเทศไทยไม่ค่อยมีปัญหา เพราะภาคเอกชนเดินได้เอง แต่วันนี้ถ้าเราจะยกระดับประเทศให้พ้นจากกับดัก ภาคเอกชนอาจไม่สามารถเดินหน้าไปได้เองได้ เราต้องกำหนดนโยบายร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ต้องช่วยกันยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย ของเศรษฐกิจไทยให้ก้าวพ้นกับดักต่างๆ ที่เราเผชิญ"นายวิรไท กล่าว
สิ่งที่ยังเป็นความท้าทายสำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนั้น นายวิรไท กล่าวว่า ประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเราต้องให้ความกังวลมากเป็นพิเศษ เพราะเมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวก็จะเกิดปัญหาความผันผวนทางการเงิน ราคาสินทรัพย์ อัตราแลกเปลี่ยน ประกอบกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) มีแนวโน้มจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความผันผวนของตัวแปรสำคัญโดยเฉพาะในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้จึงเป็นช่วงที่ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงให้มากขึ้น ทั้งในด้านของผู้ส่งออกและผู้นำเข้า