รมว.คลัง ระบุมาตรการ 1.36 แสนลบ.แค่ประคองศก.,ชูกองทุนหมู่บ้านช่วยประชาชน 10.5 ล้านราย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 2, 2015 18:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ชี้แจงผ่านรายการ"เดินหน้าประเทศไทย"ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า มาตรการ 3 ด้านที่รัฐบาลได้ประกาศออกมาภายใต้งบประมาณ 1.36 แสนล้านบาทเป็นส่วนเติมเต็มในสิ่งที่ขาดเพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ลงลึกไปมากกว่านี้
"1.36 แสนล้านบาท เบื้องต้นเพียงพอจะดูแลเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่เติมเต็มในสิ่งที่ขาด ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไม่ใช่การกระตุ้น แต่ไม่ต้องการให้เศรษฐกิจลงไปลึกกว่านี้ เพาะถ้าลงไปลึกกว่าจะยกขึ้นมามันต้องใช้ resource เยอะกว่านี้มาก"นายอภิศักดิ์ กล่าว

ในส่วนของการปล่อยสินเชื่อผ่านกลไกของกองทุนหมู่บ้านจะช่วยประชาชนได้ไม่ต่ำกว่า 10.5 ล้านคน ซึ่งขณะนี้สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะได้ประสานกับธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ให้ปล่อยเงินกู้ได้ โดยหากกองทุนฯ มีความพร้อมเมื่อใดก็สามารถเบิกเงินได้ทันที

"เราช่ายเขา 2 ปีแรกไม่ต้องเสียดอกเบี้ย รัฐบาลจะจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.แทน เพราะช่วงนี้เขาลำบาก ถ้ากู้ไปโดยมีดอกเบี้ยแล้วไม่มีความสามารถในการชำระก็ลำบาก เราเชื่อว่าหลังจาก 2 ปีเขาจะพื้นฟูตัวเองได้ สามารถชำระดอกเบี้ยได้ หลังจากนั้นใครอยากกู้ต่อก็จะสามารถขยายเวลากู้ได้เป็น 7 ปีได้"นายอภิศักดิ์ กล่าว

สำหรับเงินส่วนนี้จะปล่อยกู้ให้กับกองทุนที่มีคุณภาพความเข้มแข็งในระดับ A และ B เพราะความเสี่ยงในการปล่อยกู้เป็นของธนาคารรัฐ ดังนั้น จึงต้องคัดเลือกว่าปล่อยไปแล้วจะต้องมีความสามารถใช้คืน

ส่วนกองทุนในระดับ C และ D รัฐบาลจะให้เงินลงไปเป็นเงินเพิ่มทุนเพื่อให้พัฒนาขึ้นมาเป็นกองทุนระดับ A และ B โดยจะมีการกำหนดโปรแกรมเข้าไปช่วยเหลือและ พัฒนา เพื่อให้พัฒนาตัวเองเป็นกองทนที่ดี ซึ่งวานนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการว่าจะต้องกระจายให้ทั่วถึง ไม่ใช่ให้เฉพาะกลุ่มเดียว ซึ่งกองทุน C และ D จะได้รับเงินฟรีไป

"ถ้ากองทุนหมู่บ้านเข้มเข็งก็จะทำให้ประชาชนในหมู่บ้านสามารถดูแลตัวเอง เป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งเพื่อเป็นพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ"นายอภิศักดิ์ กล่าว

รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ยังมีมาตรการอีกสองส่วน คือ การให้เงินตำบลละ 5 ล้านบาท วงเงินรวม 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาด้านสาธารณูปโภคประเภท ขุดบ่อ สร้างถนน พัฒนาอนามัย เป็นต้น โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดูแล ให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดบริหารจัดการ โดยจะต้องลงไปดูว่าแต่ละตำบลมีโครงการใดที่สมควรจะทำ ซึ่งกะทรวงมหาดไทยเตรียมการล่วงหน้าไว้แล้ว เป็นส่วนหนึ่งที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดูแลท้องถิ่นส่วนรวม

ขณะที่มาตรการเร่งใช้งบประมาณภาครัฐ มีสองส่วนคือ 3.6 หมื่นล้านบาทที่กำหนดไว้ในโครงการที่จะเบิกจ่ายงบประมาณในปีหน้า ก็จะเร่งรัดให้มาดำเนินการภายในปีนี้แทน ส่วนอีก 2.4 หมื่นล้ายบาทให้แต่ละหน่วยงานไปตั้งงบประมาณมา โดยจะต้องเป็นโครงการขนาดเล็กเพื่อให้สามารถจ้างงานกับผู้ประกอบการรายเล็กได้ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)แนะนำให้จ้าง SME มารับงานดังกล่าว ซึ่งจะได้ผล 2 ส่วนคือ เร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ และช่วย SME ให้มีงาน เงินก็จะหมุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ