"การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้เป็นที่จับตามองและมีความคาดหวังสูง ประกอบกับเป็นช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ดังนั้นการเร่งรัดงานให้รวดเร็วจะต้องมีความรอบคอบและรัดกุมด้วย โดยเฉพาะการลงทุนโครงการขนาดใหญ่"นายออมสิน กล่าว
นายออมสิน กล่าวว่า ขณะนี้โครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กม. วงเงิน 11,348.36 ล้านบาท ได้ขายเอกสารประกวดราคาแล้ว ส่วนเส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. วงเงิน 26,007.20 ล้านบาท จะเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดรฟท.เพื่อขออนุมัติในวันที่ 8 ก.ย.นี้ จึงจะขายเอกสารประกวดราคา ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ ประจวบคีรีขันธ์- ชุมพร วงเงิน 17,000 ล้านบาท และมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม.นั้น ได้รับการอนุติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว และคาดว่าจะเร่งประกาศทีโออาร์ได้เร็วๆนี้
ส่วนเส้นทางที่เหลือ ได้แก่ ลพบุรี –ปากน้ำโพ , นครปฐม – หัวหิน จะประสานกับรมว. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอให้เร่งรัดการพิจารณา EIA เพื่อให้สามารถเปิดประกวดราคาได้ภายในปีนี้ ตามเป้าหมายรัฐบาล
รมช.คมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดงช่วง บางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) นั้น ได้เร่งรัดให้รฟท.สรุปผลการประมูล ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ประชุมบอร์ดรฟท.ได้อนุมัติวงเงินที่มีการเจรจาล่าสุดแล้ว โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC Consortium (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd., บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) ปรับลดราคามาอยู่ที่ 32,399 ล้านบาท สูงกว่ากรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติที่ 27,926 ล้านบาทและสูงกว่ากรอบวงเงินที่คณะกรรมการเคยเห็นชอบในการปรับใหม่ที่ 30,500 ล้านบาท ดังนั้น รฟท.จะต้องชี้แจงเหตุผลที่ทำให้วงเงินมาอยู่ที่ 32,399 ล้านบาท นำเสนอกระทรวงคมนาคม และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาปรับเพิ่มกรอบวงเงินต่อไป
"รถไฟต้องเร่งสรุปเรื่องนี้ เพราะกังวลว่าหากการก่อสร้างสัญญา 1และ 2 เสร็จจะมีปัญหาสายสีแดงไม่มีรถวิ่ง เนื่องจาก หลังจากได้ข้อสรุปสัญญาที่ 3 ยังมีอีกหลายขั้นตอนและหลังเซ็นสัญญา จะต้องใช้เวลาในการดำเนินการจัดหาอีก 48 เดือนหรือ 4 ปี"รมช.คมนาคม กล่าว
นายออมสิน กล่าวอีกว่า ยังได้เร่งรัดขสมก.ในเรื่องการจัดหารถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน โดยได้รับรายงานว่า ในวันที่ 3 ก.ย.นี้ ทางกระทรวงการคลัง โดยคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) จะพิจารณาและตัดสินเรื่องดังกล่าว ขณะที่เป้าหมายของรัฐบาลต้องการเร่งรัดการจัดหาเพื่อนำรถเมล์ใหม่มาให้บริการประชาชนเร็วที่สุด ขณะที่ปัจจุบันมีรถเก่าหมดสภาพจอดอยู่เฉยๆ ประมาณ 786 คัน มีค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเช่าอู่จอดและค่ารักษาความปลอดภัย 4.5 แสนบาท/เดือน ดังนั้นให้เร่งไปทบทวนแผนและมติครม.ที่ห้ามขายซากรถดังกล่าว และเสนอมาเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง