โดยหลังจากนี้ กรมฯ จะร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการอิสระ นำผลการทดสอบจากการลงพื้นทั้งหมดมาศึกษาและคำนวณความคุ้มค่าในมิติทางเศรษฐศาสตร์ทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องสูญเสียไป รวมทั้งวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของการคัดข้าวในสภาพคลังที่แตกต่างกัน เพื่อประมวลผลการศึกษานำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) พิจารณาทบทวนแนวทางการระบายข้าวฯ ในวันที่ 9 กันยายนศกนี้
ก่อนหน้านี้ กรมฯ ได้ร่วมกับคณะผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานวิชาการอิสระ หน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องข้าว และสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อทดสอบการคัดแยกข้าวเกรด C และข้าวเสียในสต็อกของรัฐ ณ คลังสินค้ากลางสมศักดิ์สามวาหลัง 2 จังหวัดกรุงเทพฯ หลังทดสอบเบื้องต้นพบว่าทางทีมเซอร์เวย์เยอร์และกรรมกร สามารถคัดแยกข้าวได้เฉลี่ยวันละ 1,000 กระสอบ จากที่คาดการณ์ไว้ประมาณวันละ 3,000 กระสอบ เนื่องจากพบปัญหาข้อจำกัดและความยากลำบากในทางปฏิบัติค่อนข้างมาก เช่น ปัญหากรรมกรไม่เพียงพอกับภาระงานที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาต่างๆ ทำให้งานล่าช้า ปัญหากระสอบข้าวแตก ปัญหาแสงสว่างภายในคลังไม่เพียงพอ ซึ่งกรมฯ ได้รายงานผลการทดสอบเบื้องต้นต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวแล้ว