ส่วนในด้านรายจ่ายนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 40% ระบุว่า มีมูลค่าการใช้จ่ายเท่ากับรายได้ที่ได้รับ ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 32.2% ระบุว่า มีมูลค่าการใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่ได้รับ และอีก 27.8% ระบุว่า มีมูลค่าการใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ที่ได้รับ โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีมูลค่าการใช้จ่ายในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เป็นเพราะราคาของแพงขึ้น, มีภาระหนี้มากขึ้น และรายได้ที่ได้รับน้อยลง ซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 77.8% ระบุว่าค่าครองชีพในปัจจุบันสูงขึ้นไป ขณะที่ 17.5% ระบุว่าเหมาะสม โดยมีเพียงกลุ่มตัวอย่าง 4.8% ที่ระบุว่าค่าครองชีพในปัจจุบันต่ำเกินไป
ส่วนในด้านหนี้สินครัวเรือนนั้น พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึง 80.2% ระบุว่ามีหนี้สิน โดยมีเพียง 19.8% ที่ระบุว่าไม่มีหนี้สิน ซึ่งพบว่าการก่อหนี้ของกลุ่มตัวอย่างนั้นส่วนใหญ่ 42.1% มีทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ ส่วน 30.5% มีเฉพาะหนี้นอกระบบ และอีก 27.4% มีเฉพาะหนี้ในระบบ
ทั้งนี้คิดเป็นจำนวนหนี้สินเฉลี่ย 248,000 บาท/ต่อครัวเรือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 13.16% หรือคิดเป็นการผ่อนชำระเฉลี่ย 14,033 บาท/เดือน โดยสาเหตุสำคัญ 5 อันดับแรกที่ทำให้มีหนี้สินเพิ่มจากปีก่อน คือ รายได้ลดลง, ค่าครองชีพปรับสูงขึ้น, ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากภัยธรรมชาติ, มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมาก และค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน
ขณะที่วัตถุประสงค์สำคัญ 5 อันดับแรก ที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างจำเป็นต้องมีการกู้ยืม คือ กู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รองลงมา คือ กู้ยืมเพื่อซื้อสินทรัพย์, กู้ยืมเพื่อการลงทุนประกอบธุรกิจ, การกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และกู้ยืมเพื่อชำระหนี้บัตรเครดิต
พร้อมกันนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึง 87.8% ยังระบุว่าในรอบปีที่ผ่านมาเคยมีปัญหาในการชำระหนี้ โดยมีเพียง 12.2% เท่านั้นที่ระบุว่าไม่เคยมีปัญหา อย่างไรก็ดี หากไม่สามารถชำระหนี้ได้นั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบว่า จะไปกู้ยืมเงินจากที่อื่นมาชำระคืนก่อน รองลงมา จะขอผ่อนผันจากเจ้าหนี้, ปล่อยให้ยึดสิ่งของไป และหลบหนี้