นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาค ลดความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในการขนส่ง ลดปัญหาด้านอุบัติเหตุรวมถึงแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยโครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 13 ส.ค.58
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯกพช. ดังกล่าวมีมติเห็นชอบให้ผู้ประกอบการรายเดิม หรือผู้ค้าน้ำมัน หรือเอกชนรายอื่น เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาโครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี โดยให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนโครงการฯ และมอบหมายให้คณะกรรมการบริษัทนโยบายพลังงาน (กบง.) เป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลค่าบริการขนส่งน้ำมันทางท่อ เพื่อป้องกันการมีอำนาจเหนือตลาด ป้องกันการผูกขาด ให้ความคุ้มครองผู้ค้าน้ำมันและประชาชนให้สามารถเข้าถึงและได้รับบริการที่เป็นธรรม จนกว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะปรับปรุงหรือแก้ไขกฏหมายให้ครอบคลุมการกำกับดูแลระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อแล้วเสร็จ
ปัจจุบัน การขนส่งน้ำมันทางท่อดำเนินการโดยเอกชน 2 ราย ได้แก่ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) ซึ่งมีท่อจากโรงกลั่นบางจากและคลังน้ำมันช่องนนทรี มายังดอนเมือง ไปสิ้นสุดที่บางปะอิน และบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (THAPPLINE) ซึ่งดำเนินการท่อส่งน้ำมันจาก จ.ระยอง มายังศรีราชา ลำลูกกา ไปสิ้นสุดที่ จ.สระบุรี
โดยในส่วนของท่อน้ำมันส่วนต่อขยายเส้นทางภาคเหนือ จะเริ่มที่บางปะอิน ผ่าน จ.กำแพงเพชร โดยมีจุดตั้งคลังน้ำมันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมระหว่าง จ.กำแพงเพชร หรือ จ.พิษณุโลก มาสิ้นสุดที่ จ.ลำปาง หรือ จ.ลำพูน ส่วนท่อน้ำมันส่วนต่อขยายเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเริ่มต้นจาก จ.สระบุรี ผ่าน จ.นครราชสีมา จุตตั้งคลังน้ำมัน มาสิ้นสุดที่ จ.ขอนแก่น และเป็นจุดตั้งคลังน้ำมันด้วย โดยปัจจุบันมีเอกชนหลายรายให้ความสนใจเสนอเป็นผู้พัฒนาโครงการฯ ซึ่งทางกรมธุรกิจพลังงานจะรวบรวมข้อมูลและเตรียมเสนอกระทรวงพลังงานต่อไป