รมว.พลังงานคาดโรงไฟฟ้าลำตะคองเสร็จปี61,ผลิตไฟฟ้าป้อนอีสานเพิ่มอีก500เมกะวัตต์

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday September 5, 2015 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ตรวจติดตามความคืบหน้าการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาและโรงไฟฟ้ากังหันลมลำตะคอง ซึ่งทั้ง 2 โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างในระยะที่ 2 สานต่อความสำเร็จในระยะแรก

รมว.พลังงาน กล่าวว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาในระยะที่ 2 นี้ ทาง กฟผ.จะดำเนินการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเพิ่มอีก 2 เครื่อง คือ เครื่องที่ 3 และเครื่องที่ 4 ซึ่งมีกำลังการผลิตเครื่องละ 250 เมกะวัตต์รวมกำลังการผลิตที่500 เมกะวัตต์ พร้อมการเดินสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 230 เควี จำนวน 2 วงจร เพื่อต่อเชื่อมเข้ากับสถานีไฟฟ้าแรงสูงท่าลาน 3 จังหวัดสระบุรี ในระยะทาง 95 กิโลเมตร โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 และจะแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมเดินเครื่องการผลิตเต็มรูปแบบได้ในปี 2561 ภายใต้งบประมาณ 6,460 ล้านบาท ล่าสุดมีความคืบหน้าการก่อสร้างแล้วประมาณ 10%

ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญในการจ่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและหากโครงการฯ แล้วเสร็จ จะทำให้โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนามีกำลังการผลิตเมื่อรวมกับกำลังการผลิตเดิมในโครงการระยะแรกเป็น 1,000 เมกะวัตต์สำหรับใช้เสริมระบบในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของแต่ละวัน ซึ่งจะเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงบริเวณใกล้เคียง และเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้ซึ่งปัจจุบันกำลังผลิต ในพื้ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ประมาณ 4,900 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ประมาณ 3,600 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ทาง กฟผ. ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลมลำตะคอง ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการสานต่อจากโครงการนำร่องที่ได้ติดตั้งไปแล้วในระยะแรก โดยมีเป้าหมายการติดตั้ง จำนวน 12 ชุด มีกำลังการผลิตชุดละ 2 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิต 24 เมกะวัตต์ มีงบประมาณการลงทุนประมาณ 1,700 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนมิถุนายน 2560

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้ากังหันลมลำตะคอง ถือเป็นโครงการที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล โดยการนำพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ดี การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมยังมีข้อจำกัดเนื่องจากไม่สามารถควบคุมพลังงานจากธรรมชาติได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้ากังหันลมทาง กฟผ. ได้ต่อยอดการพัฒนาโครงการศึกษาวิจัยการใช้ระบบ Wind-Hydrogen Hybrid ในการเก็บพลังงานจากกังหันลมในรูปของก๊าซไฮโดรเจนและแปลงกลับเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือ Hydrogen Fuel Cell System เพื่อเก็บไฟฟ้าที่ผลิตในช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อยเช่นช่วงเวลากลางคืนแล้วมาจ่ายไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้ามาก คือในช่วงกลางวัน โดยจะมีกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 300 กิโลวัตต์ซึ่งทาง กฟผ. จะนำมาทดลองผลิตไฟฟ้าเพื่อจ่ายให้กับอาคารศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงานโรงไฟฟ้าลำตะคอง ซึ่งพลังงานไฟฟ้าที่ได้มาจากวิธีการดังกล่าวจะมีเพียงพอที่จะทำให้อาคารศูนย์เรียนรู้เป็น Zero Energy Building


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ