กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยเชื่อมั่นว่ารมว.พาณิชย์ และคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะสามารถขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นจากประเทศเกาหลีใต้ และประเทศญี่ปุ่นที่สามารถสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจโดยเริ่มต้นจากการให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามมาตรการเร่งด่วนในขณะนี้ คือ การเร่งรัดการเปิดไต่สวน และบังคับใช้มาตรการเยียวยาทางการค้าเนื่องจากมีหลายสินค้าที่ได้รับความเสียหายจากการดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม แต่ขณะนี้รอการเปิดไต่สวนมากว่า 6 เดือน หรือรอการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองมากว่า 1 ปี
โดยจนถึงขณะนี้ ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กเป็นอย่างมากโดยในช่วงต้นปี 2558 มีการเปิดไต่สวน และกำหนดมาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กอย่างมากมาย เช่น มาเลเซียเปิดไต่สวนสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นที่มีแหล่งกำเนิดจากจีน เกาหลีใต้ และเวียดนาม รวมทั้งประกาศปรับอากรขาเข้าเหล็กทรงยาวจากเดิมที่ได้รับการยกเว้นอากร เป็น 5% ,อินโดนีเซียใช้มาตรการ Safeguard สินค้าเหล็กลวด รวมทั้งประกาศขึ้นอากรขาเข้าเหล็ก จากเดิมจัดเก็บในอัตรา 5-10% เป็นอัตรา 15-20%
อินเดียเปิดไต่สวน AD สินค้าเหล็กจากจีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ รวมทั้งประกาศขึ้นอากรขาเข้าเหล็กจากเดิมจัดเก็บในอัตรา 5.0-7.5% เป็นอัตรา 7.5-10.0% , สหรัฐอเมริกาเปิดไต่สวน AD และ CVD สินค้าเหล็กเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อนจากจีน ,สหภาพยุโรปเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นจากประเทศจีน
นายยรรยง กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยอยากร้องขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โปรดพิจารณาเปิดไต่สวน และบังคับใช้มาตรการเยียวยาทางการค้าโดยเร็วที่สุด เช่นเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลก เนื่องจากสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเหล็กไทยอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงยิ่ง เพราะต้องนำเข้าสุทธิสินค้าเหล็ก สูงถึง 14.4 ล้านตันต่อปี มากสุดเป็นลำดับที่สองของโลก รองจากอเมริกาซึ่งมีการนำเข้าเหล็กสุทธิ 17.8 ล้านตันต่อปี และสิ่งที่สะท้อนความเสียหายอย่างชัดเจนคือ ผลการดำเนินงานรายอุตสาหกรรมครึ่งปีแรกของปี 2558 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่ามีเพียงอุตสาหกรรมเหล็กเพียงอุตสาหกรรมเดียวที่มีผลดำเนินการเป็นลบ สำหรับมาตรการระยะกลางกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยได้นำเสนอในประเด็นเพิ่มเติม ภายหลังจากการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 ต่อพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น ในการดำเนินการมาตรการที่สำคัญต่างๆ อาทิ การบังคับใช้มาตรการทางการค้า ซึ่งปัจจุบันยังคงขาดกฎหมายว่าด้วยเรื่องการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti Circumvention) และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty) และการผลักดันนโยบายการใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตในประเทศ เป็นต้น
"กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยเชื่อมั่นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ท่านใหม่จะสานต่องานที่สำคัญนี้ให้ลุล่วง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก และเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน"นายยรรยง กล่าว