รมช.พาณิชย์ หวังสร้างความเข้มแข็งภายในสู่ระดับอาเซียนรับมือการจับกลุ่มการค้าโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 7, 2015 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า รมช.พาณิชย์ กล่าวอีกว่า ทิศทางของเศรษฐกิจและการค้าโลกในช่วงอีก 2-3 ปี จะเกิดการร่วมกลุ่มกันภายในที่ชัดเจนมากขึ้นใน 3 กลุ่ม คือ ยุโรป อเมริกา และเอเซีย ส่วนจะกลายเป็น 3 กลุ่มใหญ่มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่ที่พลังของแต่ละกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของโลกใน 3-4 ทศวรรษจากนี้จะมาจาก The new USA ซึ่งหมายถึง "The United State of Asia" โดยมี จีน อินเดีย เป็นตัวนำ รวมทั้งอาเซียน โดยกลุ่มอาเซียนจะมีความสำคัญกับการส่งออกของไทยอย่างมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) ซึ่งการค้าการส่งออกไปประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เพราะ 4 ประเทศรวมกันเท่ากับมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นประเทศเดียว

ส่วนกลุ่มที่รองลงมา คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ซึ่งถือว่ามีระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกับไทย และกลุ่มสาม คือ สิงคโปร์ ซึ่งต้องทำให้สิงคโปร์เข้ามาเป็นหุ้นส่วนกับประเทศไทยในการเชื่อมต่อไทยไปสู่เวทีโลก

"อย่ามองอาเซียนเป็นคู่แข่งอย่างเดียว แต่มองว่าเป็นคู่ค้าด้วย ถ้าเราใช้เวลาในช่วงนี้ ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกผันผวนมาเน้นอาเซียนและมองอาเซียนเป็นผืนเดียวกัน ในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจโลกดีขึ้น เราจะแข็งแรงขึ้น ถึงตอนนั้นเราสามารถไปเจาะตลาดอื่นๆ ได้ เช่น จีน อินเดีย อิหร่าน และญี่ปุ่น ก็ยังมีความน่าสนใจ ซึ่งหากสามารถทำในช่วงที่ตลาดโลกผันผวนได้ สัดส่วนการส่งออกเราจะดีขึ้นในอนาคต" รมช.พาณิชย์ กล่าว

นายสุวิทย์ กล่วว่า ในอนาคตประเทศไทยควรต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่าจะสร้างความเข้มแข็งจากภายในได้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจภายในและภายนอก เพื่อให้ local economy มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะเชื่อมกับ global economy ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลชุดนี้คือต้องเน้นเศรษฐกิจภายในก่อนจะไปพึ่งพาโลกที่ผันผวน ซึ่งปัญหาเร่งด่วนที่เกี่ยวกับกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องดูแลและให้ความสำคัญก่อน คือ 1.เรื่องปัญหาปากท้อง 2.ราคาสินค้าเกษตร 3.การส่งออก

"โจทย์ระยะสั้น วันพุธนี้จะหารือกับหอการค้าเรื่องเศรษฐกิจปากท้องในประเทศ จะลงในรายละเอียด ปัญหารายตลาดคืออะไร รายสินค้าคืออะไร" รมช.พาณิชย์ กล่าว

นายสุวิทย์ มองว่า key word จากนี้ไปในเรื่องการค้า การลงทุน เป็นเรื่องของการเชื่อมโยงทางการค้า ทางธุรกิจ และเครือข่ายต่างๆ ซึ่งอดีตมุ่งเน้นเรื่องการส่งออกสินค้าเป็นสำคัญ แต่ในอนาคตการค้าสินค้าบริการจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น เนื่องจากมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยจากปี 2005 การค้าภาคบริการมีสัดส่วน 18% ของมูลค่าการส่งออกสินค้า แต่ในปี 2014 เพิ่มขึ้นเป็น 24% หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 0.87% มาเป็น 1.26% โดยสินค้าบริการที่ไทยมีการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น กลุ่มท่องเที่ยว, การขนส่ง โลจิสติกส์, บริการด้านสุขภาพ และบริการทางการเงิน เป็นต้น จะเห็นว่าไทยมีส่วนแบ่งตลาดในสินค้าบริการในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นทุกปี ดังนั้น สิ่งที่สำคัญอยากให้เข้าใจว่ารูปแบบการค้าใหม่ของโลกจะไม่ได้มองแค่การส่งออกในตัวสินค้าแต่เพียงอย่างเดียวแล้วเท่านั้น แต่จะต้องทำให้การค้าบริการ และการลงทุนจากทั้งในประเทศ และออกไปลงทุนยังต่างประเทศ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

"สิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกนำมาวัด บางส่วนอยู่ ธปท. สภาพัฒน์ ได้หารือ รมว.สมคิด ว่าเวลาเสนอตัวเลขส่งออกแต่ละเดือน จะนำเสนอในภาพใหญ่ว่าความมั่งคั่งของประเทศเรา ผ่าน 4 ตัวนี้ ตั้งแต่ การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุนทั้งการลงทุนในประเทศ และการออกไปลงทุนในต่างประเทศ หน้าตาเป็นอย่างไร จะได้เห็นกรอบชดเจน เดิมพูดแต่ GDP ตอนนี้ต้องดู GNP ด้วยว่าเราไปสร้างความมั่งคั่งอะไรในต่างประเทศ และมีอะไรกลับคืนมาบ้าง"นายสุวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ เห็นว่า Sector ที่ไทยมีจุดแข็งคือ สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องหรืออ้างอิงกับพื้นฐานเดิมของไทย คือ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม ซึ่งจากนี้ไปจะต้องต่อยอดของเก่าด้วยการเติมเต็มเทคโนโลยี การวิจัยพัฒนา และใส่นวัตกรรม การบริหารจัดการสมัยใหม่ ซึ่งจะเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรม

"โลกในอนาคต ถ้าเราต้องการสร้างความมั่งคั่งให้มากขึ้น และหลุดออกจากกับดักการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ เราจะต้องขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม เปลี่ยนจาก value added เป็น value creation" นายสุวิทย์ กล่าว

พร้อมมองว่า การจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ(พกค.) ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งขึ้นแล้ว โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานนั้น จะเป็นคณะกรรมการระดับประเทศที่ดูแลด้านการค้า ไม่ใช่เพียงแค่การส่งออก แต่รวมทั้งการนำเข้าและการลงทุนทั้งหมด ซึ่งสามารถขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการได้ตรงจุด เพราะเป็นการนำภาคเอกชนเข้ามาร่วมวางกลยุทธ์และมาตรการต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจในการสั่งการกระทรวงต่างๆ ด้วยเพื่อที่จะปลดล็อคเรื่องที่เป็นอุปสรรคทางการค้าการลงทุนต่างๆ ได้เลย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ