โดยหลักการโอนการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 2 สายทางนั้น รฟม.จะเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างงานโยธาต่อไปตามแบบและสัญญาก่อสร้างที่ผูกพันกับผู้รับเหมาจนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยหากกทม.จะมีการปรับปรุงงานใดๆ รฟม.จะเป็นวินิจฉัยในฐานะเจ้าของสัญญาก่อสร้าง โดยกทม.จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในระหว่างก่อสร้างในฐานะเจ้าของพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อให้งานก่อสร้างรวดเร็ว
นอกจากนี้ กทม.จะดำเนินการจัดระบบการเดินรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายทางให้เร็วที่สุด ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มเดินรถในบางส่วนที่งานก่อสร้างและวางระบบแล้วเสร็จก่อน เช่น ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งขณะนี้งานโยธามีความคืบหน้ากว่า 60% แล้ว อาจเปิดเดินรถต่อเนื่องเป็นช่วงๆ จากสถานีแบริ่งต่อไปยัง สถานีสำโรงและสถานีปู่เจ้าสมิงพราย ก่อน เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นกับการส่งมอบงานโยธา
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบตั้งคณะกรรมการขึ้น 3 ชุด ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการประเมินมูลค่าหนี้สิน ทรัพย์สิน ขั้นตอนทางการเงินที่จะชำระหนี้และงบประมาณ เนื่องจากจะต้องมีการเจรจาเพื่อชำระหนี้ระหว่างกันในแต่ละหน่วยงานเช่น ระหว่าง รฟม.กับกทม.,กทม.กับสบพ. กทม.กับสำนักงบประมาณ 2. คณะกรรมการประสานงานด้านเทคนิคและการเดินรถ เพื่อให้กทม.ดำเนินการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงคมนาคม รฟม. กทม. สนข.และสจส. และ3. คณะกรรมการติดตามความคืบหน้าการเดินรถภายใต้ความร่วมมือฯ ซึ่งจะทำหน้าที่แก้ไขปัญหาอุปสรรค เพื่อให้สามารถเปิดเดินรถได้ตามแผน
ระหว่างนี้ รฟม.จะรับผิดชอบการก่อสร้างและภาระหนี้สินต่อไปจนกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ ส่วนการชำระคืนนั้น จะต้องเจรจาในรายละเอียดต่อไป ซึ่งจะต้องรอคณะกรรมการประเมินมูลค่าหนี้สินฯพิจารณา หลักการของร่างบันทึกข้อตกลงนี้คือ ต้องการให้เปิดเดินรถได้เร็ว เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน นอกจากนี้ รฟม.จะส่งมอบผลการศึกษารูปแบบการร่วมทุนในการจัดหาผู้เดินรถ ตามผลศึกษา PPP และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้กทม. เพื่อเป็นการเปิดเผยข้อมูลระหว่างกัน ตามข้อตกลงในความร่วมมือฯ อีกด้วย