พร้อมกันนี้ มองว่าจากจุดนี้ไปจนถึงสิ้นปี ค่าเงินบาทในระดับที่เหมาะสมควรอยู่ในช่วง 36.00-36.50 บาท/ดอลลาร์
"การที่บาทอ่อนไม่ได้เกิดความเลวร้ายกับเรา แต่กลับทำให้เราประหยัด ไม่ไปซื้อของฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศ และจากนี้เราจะเริ่มค้าขายได้ดีขึ้น ตรงนี้เป็นจุดที่น่าจะดี ตอนนี้ค่าเงินเรายังแข็งอยู่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า...บาทคงไม่ไปไกลกว่านี้มาก คงเข้าสู่ดุลยภาพที่ 36.00-36.50 บาท ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมถึงช่วงสิ้นปีนี้" นายทนง กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์เช้านี้
อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า นอกจากเงินบาทจะอ่อนค่าจากสาเหตุที่เงินทุนไหลออกแล้ว ยังมีปัญหาในเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ ตลอดจนกรณีที่สหรัฐฯ เตรียมจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงทำให้เม็ดเงินจากทั่วโลกเริ่มไหลเข้าไปอยู่ในตลาดสหรัฐ รวมทั้งตลาดญี่ปุ่น และตลาดยุโรปที่กำลังจะเริ่มฟื้นตัว ในขณะที่ตลาดเอเชียเองกลับซบเซา
ทั้งนี้ มีข้อมูลเบื้องต้นว่าเฉพาะในช่วง ส.ค.เพียงเดือนเดียว มีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทยประมาณ 5 หมื่นล้านบาท แต่หากจะนับรวมตั้งแต่ต้นปีจะพบว่ามีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทยประมาณ 91,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับตลาดเงินอีกแสนกว่าล้านบาท ทำให้ตั้งแต่ต้นปีมีเงินไหลออกจากประเทศไทยแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งนี่เป็นเพียงเม็ดเงินจากการลงทุนในระยะสั้นเท่านั้น
"อยู่ดีๆ เงินไหลออก 2 แสนกว่าล้านบาท แม้การค้าเรายังเป็นบวก คือ นำเข้าน้อยกว่าส่งออก แต่ตอนนี้เราเจอปัญหาท่องเที่ยวที่ตกลงจากเหตุระเบิดที่ราชประสงค์ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้คนยังคงต้องการนำเงินออก" นายทนง กล่าว
พร้อมระบุว่า ปัญหาตลาดเงินของไทยคือ อัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างอ่อนไหวกับการไหลเข้าออกของเงินทุนระยะสั้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะเรายังไม่สามารถดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุนระยะสั้นได้ ซึ่งการที่เราไม่สามารถกำกับดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุนของนักลงทุนต่างประเทศได้ จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการที่ค่าเงินจะแกว่งตัว
นายทนง กล่าวว่า การที่นักลงทุนต่างชาติจะนำเงินเข้ามาลงทุนในบ้านเราหรือไม่ ขึ้นกับผลตอบแทนที่เขาจะได้รับว่าคุ้มค่ากับการจะเข้ามาลงทุนหรือไม่ แต่เมื่อในบ้านเราไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนได้ อีกทั้งมีปัจจัยเสี่ยงสูงกว่าที่ควรจะเป็น จึงทำให้ต่างชาตินำเงินออกไปก่อน ดังนั้นปัจจัยเรื่องความเชื่อมั่นจึงถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่จะทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจนำเงินเข้ามาลงทุนหรือไม่ นอกเหนือไปจากปัจจัยเรื่องสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ
"ปัจจัยเรื่องความมั่นใจเข้ามาเกี่ยวข้องและเป็นตัวหลัก เศรษฐกิจที่แท้จริงจะเป็นอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความผันผวนได้คือ ความมั่นใจของนักลงทุน ทั้งเรื่องการเมือง ตั้งแต่เริ่มต้นมาปีกว่า การลงทุนขนาดใหญ่ที่จะมาลงทุนในไทยเริ่มชะลอ ส่วนการลงทุนระยะสั้น พอสหรัฐเริ่มฟื้นเงินก็เริ่มไหลกลับเข้าไปอีก สิ่งเหล่านี้กระทบเราทั้ง 2 ด้าน ทั้งการลงทุนระยะยาวน้อยลง และการลงทุนระยะสั้นก็น้อยลงไปด้วย" นายทนง กล่าว
พร้อมระบุว่า หลายประเทศจึงมองว่าตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็เปรียบเหมือนกับเป็นประเทศที่ยังไม่มีประชาธิปไตย จึงยังทำให้หลายประเทศชะลอการเข้ามาลงทุนไว้ก่อน และรอว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นโรดแมพการทำงานของรัฐบาล รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญ
"ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่มีการเลือกตั้ง เขาจะรอก่อน เหมือนกับเป็นข้อตกลงที่ไม่เป็นทางการ หรือเป็นที่รับรู้กันอยู่กว่า ประเทศใดที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ก็จะยังชะลอการลงทุน ของเก่าก็ไม่เป็นไร นั่นคือสิ่งที่เขารออยู่ พอเรามีโรดแมพหรือรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ชัดเจน เขาก็คงนั่งดูต่อว่าประเทศไทยจะจบอย่างไร จะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไร" อดีต รมว.คลัง กล่าว