"ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือ SME ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย มุ่งหวังให้เข้มแข็ง และสร้าง SME ใหม่เพื่อเป็นฐานในอนาคต...มาตรการที่ออกมาจะเป็นส่วนที่ช่วยเปิดช่องให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เพราะมองว่าการขยายฐานส่งเสริม SME เหมือนการปลูกป่าที่ต้องสร้างไว้ อันนี้เป็นการเริ่มต้นเท่านั้น ในส่วนการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบ มีมาตรการช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ขยายเงินทุนให้ SME ที่มีทุนน้อย และการลดภาระภาษี"นายสมคิด กล่าว
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการต่าง ๆ ประกอบด้วย มาตรการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ 4% วงเงิน 1 แสนล้านบาท จะมอบหมายให้ธนาคารออมสินเป็นแกนนำ เป็นเงินกู้ระยะเวลา 7 ปี โดยในช่วง 2 ปีแรกปลอดดอกเบี้ย ส่วนนี้รัฐจะช่วยชดเชยดอกเบี้ย ประมาณ 5 พันล้านบาท
มาตรการปรับปรุงเงื่อนไขให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ช่วยค้ำประกัน โดยมีการลดหย่อนค่าธรรมเนียมแบบขั้นบันได ปีแรก 0% ปีที่สอง 0.5% ปีที่สาม 1.5% และปีที่สี่-เจ็ด 1.75% ในส่วนนี้รัฐให้เงินช่วยเหลือประมาณ 4 พันล้านบาท
มาตรการตั้งกองทุน วงเงิน 6 พันล้านบาทจากแบงก์รัฐ 3 แห่ง อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) แห่งละ 2 พันล้านบาท ซึ่งจะช่วยเป็นการขยายทุน เน้น SME รายใหม่
สำหรับมาตรการภาษี จะมีการลดหย่อนภาษีสำหรับ SME ที่มีกำไรในส่วนที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้ภาระภาษีลดลงเหลือ 10% เป็นเวลา 3 ปี จากอัตราปกติที่ 15% จากเดิมหากมีกำไรไม่เกิน 3 แสนบาทไม่เสียภาษี ส่วนเกินจาก 3 แสนบาทถึง 3 ล้านบาท เสียภาษี 15% และหากมากกว่า 3 ล้านบาท เสียภาษี 20%
"การดำเนินการ SME รายใหม่ ไม่มีผลกระทบ เพราะใน 3 ปีแรก SME ไม่มีกำไรมากอยู่แล้ว แต่จะเป็นการจูงใจให้เข้ามาสู่ระบบ ซึ่งจะเป็นฐานในอนาคตได้"นายอภิศักดิ์ กล่าว
ทางด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวไม่กระทบสถานะของแบงก์ เพราะธนาคารมีสภาพคล่องสูง
นอกจากนี้ ทางธนาคารออมสินมีโครงการที่จะช่วยเหลือผู้ปนระกอบการในอีก 5 ด้าน ได้แก่ ด้านประมง 1 พันล้านบาท การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 1 พันล้านบาท ด้านการท่องเที่ยว 1 พันล้านบาท ผู้รับเหมาโครงการรัฐ 2 พันล้านบาท และ SME 3 พันล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวจะต้องยื่นเรื่องภายในวันที่ 31 ธ.ค. 58 โดยจะสามารถเบิกจ่ายภายในเดือน มี.ค. 59