ศูนย์วิจัยกสิกรฯ แนะรัฐเร่งประมูลโครงการขนาดใหญ่บางส่วนภายในปีนี้เสริมความเชื่อมั่นเอกชน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 8, 2015 16:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าถ้ารัฐบาลสามารถเดินหน้าเปิดประมูลโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมจะดำเนินการได้บางส่วนในปี 58 นี้ ก็น่าจะเสริมความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชน รวมทั้งก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยมากขึ้นในปี 59 จากที่ในช่วงที่ผ่านมาของปี 58 การลงทุนของภาครัฐส่วนใหญ่เป็นโครงการต่อเนื่องและโครงการขนาดย่อย ภายใต้งบลงทุนปกติในงบประมาณประจำปี รายได้ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เป็นหลัก

ทั้งนี้ การผลักดันโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งวางนโยบายที่จะเร่งผลักดัน 17 โครงการ วงเงินลงทุนประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ในปี 58-59 โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นโครงการระบบรางและทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ปี 58-65 แต่มีส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามา คือ โครงการรถไฟความเร็วปานกลางและความเร็วสูงทั้งหมด 4 สาย ได้แก่ สายหนองคาย-นครราชสีมา-มาบตาพุด และกรุงเทพฯ-แก่งคอย สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ สายกรุงเทพฯ-พัทยา และสายกรุงเทพฯ-หัวหิน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 58 เมื่อพิจารณาจากรายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณของกรมบัญชีกลาง พบว่ามีการเบิกรายจ่ายลงทุนในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค.58 จำนวน 198,092 ล้านบาท (เติบโต 53% YoY) ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดกลางและขนาดย่อย แบ่งออกเป็นโครงการซ่อมแซม/พัฒนาโครงข่ายถนน และโครงการปรับปรุงอาคาร/สถานที่ราชการต่างๆ ขณะที่ การลงทุนในโครงการด้านคมนาคมขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นโครงการต่อเนื่อง ขณะที่โครงการใหม่มีเพียงโครงการรถไฟฟ้าสาย สีเขียว ช่วง หมอชิต -สะพานใหม่-คูคต ที่ได้เซ็นสัญญาไปเมื่อเดือน เม.ย.58 ที่ผ่านมา และเริ่มก่อสร้างในเดือน ส.ค.58

การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่ยังล่าช้าในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นผลมาจากภาครัฐมีความเข้มงวดมากขึ้นในเรื่องการตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการ รวมทั้งมีการปรับราคาค่าก่อสร้างและรายละเอียดของบางโครงการ

สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 58 การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ น่าจะเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นในส่วนของการลงทุนที่รัฐบาลได้มีการอนุมัติไปแล้ว เช่น โครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน (ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายพัทยา-มาบตาพุด และโครงการพัฒนาถนนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งโครงการเหล่านี้น่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงไตรมาส 4/58 โดยบางโครงการอาจจะเริ่มเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก่อน แล้วจึงดำเนินการก่อสร้างในช่วงเวลาถัดไป

อย่างไรก็ดี โครงการภาครัฐส่วนใหญ่ที่จะดำเนินการในช่วงเวลาที่เหลือของปี 58 นั้น มาจากโครงการต่อเนื่อง และโครงการต่างๆที่อยู่ในแผนงบประมาณประจำปี 58 และ ปี 59 รวมถึงโครงการขนาดกลางและขนาดย่อยที่อยู่ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 2 วงเงิน 40,000 ล้านบาท

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จะมีเม็ดเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในช่วงครึ่งหลังของปี 58 ประมาณ 97,000-101,400 ล้านบาท หรือเติบโต 20-25% (Y-o-Y) จากที่มีมูลค่า 113,787 ล้านบาท หรือขยายตัว 78% (Y-o-Y)ในครึ่งปีแรก (ซึ่งการขยายตัวสูงในช่วงครึ่งปีแรกนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในปี 57 ที่มีสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง) และทำให้มูลค่าการลงทุนในโครงการด้านคมนาคมตลอดทั้งปี 58 จะอยู่ที่ประมาณ 213,000 ล้านบาท หรือเติบโต 47%

สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 59 นับเป็นช่วงสำคัญของรัฐบาลในการที่จะเร่งผลักดันโครงการลงทุนระยะเร่งด่วนในช่วงปี 58-59 และเพื่อให้การลงทุนของภาครัฐยังคงเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปี 59 ทั้งนี้ โครงการใหม่ที่มีความชัดเจนและได้รับอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างแล้ว และน่าจะเริ่มลงทุนในการก่อสร้างในช่วงครึ่งแรกของปี 59 ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางจิระ-ขอนแก่น โครงการปรับปรุงท่าอากาศยาน จ.ตาก และจ.ยะลา โครงการศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง และโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง A แหลมฉบัง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังพยายามเร่งอนุมัติการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี รวมถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ซึ่งหากโครงการเหล่านี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในสิ้นปี 58 ก็จะสามารถเริ่มกระบวนการลงทุนจริงในปี 59 ทั้งนี้ สถานะโครงการดังกล่าวในปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และการทบทวนแบบรายละเอียดโครงการขั้นสุดท้าย

นอกเหนือจากการรุกลงทุนในโครงการใหม่ ภาครัฐยังพยายามจะเร่งรัดการลงทุนในโครงการต่อเนื่องให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และถนนทางหลวงสายต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 59

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเม็ดเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 59 ทั้งโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ๆ น่าจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 142,000-148,500 ล้านบาท หรือปรับตัวสูงขึ้น 25-30% (Y-o-Y)

ทั้งนี้ จากที่ภาครัฐได้ประกาศโครงการที่ต้องเร่งผลักดันในช่วงปี 58-59 วงเงินเบื้องต้น 1.6 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศให้มีประสิทธิภาพ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังฟื้นตัวค่อนข้างล่าช้า ทำให้มีการคาดหวังว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ดี โครงการที่อยู่ในแผนฯดังกล่าว ยังต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนอีกมาก ทั้งการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ทำให้ยังต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าที่จะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนจริงหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่อย่างน้อย หากภาครัฐเร่งอนุมัติโครงการที่มีความพร้อมและเร่งรัดการลงทุนในโครงการเหล่านั้นให้เกิดขึ้นจริง ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางตรง อย่างกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้างที่จะทยอยรับอานิสงส์ เมื่อมีการลงทุนจริงเกิดขึ้นตามมาเป็นลำดับ

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่จะเกิดขึ้นพร้อมกันในระยะข้างหน้า อาจมีประเด็นอื่นตามมา อาทิ 1) ปัญหาด้านการขาดแคลนกำลังแรงงาน เนื่องจากการลงทุนในโครงการภาครัฐและภาคเอกชนในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัว จึงอาจส่งผลให้เกิดปัญหาการแย่งชิงกำลังแรงงานกลับมาอีก ดังนั้น ภาครัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาความสามารถของแรงงานที่อาจไหลมาจากสาขาธุรกิจอื่น เช่น ภาคเกษตรกรรม ให้มีทักษะด้านงานก่อสร้างมากขึ้น เพื่อเข้ามารองรับปริมาณงานที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

2) ภาครัฐควรมีนโยบายสนับสนุนทางอ้อมแก่ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างขนาดกลางและขนาดย่อม ให้สามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ทดแทนการขาดแคลนแรงงานก่อสร้างได้ โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกลุ่มสินค้าเครื่องจักร/อุปกรณ์ต่างๆที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น เครื่องปูพื้นถนนคอนกรีตสำเร็จรูป (Cement machinery) เครื่องปูฟุตบาทสำเร็จรูป และเครื่องขุดเจาะอุโมงค์ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ