ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ประเมินผลกระทบต่อภาคธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มแรก มาตรการกระตุ้นการบริโภค ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือส่งเสริมความเป็นอยู่ผู้มีรายได้น้อย โดยให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้าน (ระดับ A และ B) โดยปลอดดอกเบี้ยใน 2 ปีแรก และในปีที่ 3-7 คิดดอกเบี้ยตามต้นทุนการเงินบวก 1.0% ต่อปี วงเงินรวม 6.0 หมื่นล้านบาท โดยผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในข่ายจะได้รับความช่วยเหลือมีจำนวนกว่า 9.5 ล้านราย (75%ของจำนวนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านทั้งหมด)
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ประเมินว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้อย่างน้อย 5.4 หมื่นล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 90 ของวงเงินรวม เนื่องจากเป็นการปล่อยกู้ให้กองทุนหมู่บ้านระดับ A และ B จัดอยู่ในกลุ่มกองทุนที่มีศักยภาพ ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ผ่านโครงสร้างการนำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์การกู้ยืมและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนของสำนักงานสถิติ พบว่ากลุ่มธุรกิจที่จะได้ประโยชน์ ได้แก่ ร้านค้าปลีกทั่วไป อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องมือการเกษตร ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง รับเหมาก่อสร้าง/ซ่อมแซม
กลุ่มที่สอง มาตรการกระตุ้นการลงทุน ได้แก่ มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชน เพื่อให้เกิดการจ้างงานในชุมชน โดยจัดสรรงบประมาณให้ตำบลละ 5 ล้านบาท และมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในโครงการขนาดเล็กวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 7.6 หมื่นล้านบาท ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ประเมินว่า เม็ดเงินลงทุนดังกล่าวจะเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ได้อีกกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของวงเงินรวม แม้ว่าในช่วงแรกการอนุมัติอยู่ในขั้นตอนการกำหนดกรอบระเบียบวิธีการเบิกจ่ายวงเงินให้มีระบบตรวจสอบและติดตามได้ โดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับอานิสงส์กว่า 1.3 แสนราย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง/ซ่อมแซม เหมืองหิน/แร่ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรก่อสร้างและครุภัณฑ์
ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 กลุ่มดังกล่าว ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ประเมินว่าจะมีเม็ดเงินจากรัฐเข้าในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ได้ประมาณ 1.06 แสนล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 78 ของวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.36 แสนล้านบาท) ซึ่งจากการวิเคราะห์ผ่านตารางปัจจัยการผลิต (Input-Output Table Analysis) คาดว่าจะช่วยผลักดันให้จีดีพีปี 2558 เพิ่มขึ้นได้ประมาณร้อยละ 0.3 และหากเม็ดเงินดังกล่าวมีการส่งผ่านหมุนเวียนไปยังธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ (Multiplier Effect) คาดว่าจะส่งผลทำให้จีดีพีในปีหน้าสามารถขยายตัวได้อีกร้อยละ 0.3 โดยมาตรการกระตุ้นการลงทุนจะมีน้ำหนักการเพิ่มขึ้นในจีดีพีมากกว่ามาตรการกระตุ้นการบริโภค เนื่องจากโครงการลงทุนต่างๆ ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมอันเกิดจากซัพพลายเชนในภาคการก่อสร้าง ทำให้มีการจ้างงานในท้องถิ่น เกิดรายได้หมุนกลับมาใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ
อนึ่ง ผลประชุม ครม. ล่าสุด (8 กันยายน 2558) มีมติอนุมัติมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องทางการเงินแก่ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยให้ธนาคารออมสินเป็นแกนหลักร่วมกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ในการปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นไม้ต่อสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาก่อนหน้านี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่นี้จะช่วยผลักดันให้มีเม็ดเงินกระจายเข้าสู่ทุกภูมิภาคอย่างทั่วถึง หากผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี และภาคประชาชนสามารถใช้เม็ดเงินเหล่านี้ต่อยอดธุรกิจหรือสร้างรายได้ให้เกิดขึ้น คาดว่าการพลิกฟื้นเศรษฐกิจในปีนี้ “ไม่ใช่เรื่องยาก"