พาณิชย์เปิดแผนปฏิบัติการ "3 Big Boom" เร่งดูแลค่าครองชีพประชาชน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 9, 2015 12:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยเรื่องค่าครองชีพของประชาชน และมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์รีบเร่งในการเข้าไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ในประเด็นที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน และที่กระทบต่อการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องดูแลราคาสินค้าและบริการให้มีความเป็นธรรมเหมาะสม และเป็นไปตามกลไกตลาด โดยเน้นดูแลไม่ให้มีการผูกขาดการกักตุนสินค้า และให้มีปริมาณสินค้าเพียงพอกับความต้องการในแต่ละช่วงเวลา พร้อมส่งเสริมให้มีการกระจายแหล่งจำหน่ายสินค้าให้ทั่วถึง เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคในการซื้อสินค้าและบริการ โดยต้องมีการบริหารจัดการเพื่อจัดหาสินค้าอุปโภค บริโภค ให้มีความหลากหลาย ครบถ้วน เพียงพอ และถึงมือผู้บริโภคทุกระดับ อย่างสะดวก ทั่วถึงอย่างเป็นธรรม

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องราคาสินค้าและบริการแพงขึ้นจริงหรือหรือไม่นั้น ในส่วนของสถานการณ์เรื่องราคาสินค้า กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของประเทศทุกเดือน และติดตามสถานการณ์เคลื่อนไหวของดัชนีราคาสินค้าทุกหมวด โดยรวมพบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศของเดือนสิงหาคม 2558 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้ามีการลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว สาเหตุที่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปลดลงนั้นเนื่องมาจากการลดลงของน้ำมันโลกจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงมากเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ก็ได้ติดตามผลโพลของหน่วยงานภาคเอกชนต่างๆ เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาหาทางแก้ไขเช่นกัน โดยเฉพาะเกี่ยวกับปัญหาเรื่องราคาค่าครองชีพของประชาชน

"ต้องเข้าใจว่า ปัจจัยกดดันค่าครองชีพประชาชนที่สำคัญที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ คือ การที่ระดับรายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้นไม่ทันกับค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ระดับราคาสินค้าเกษตรและโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง ซึ่งรายได้จากสินค้าเกษตรถือเป็นรายได้หลักของผู้มีรายได้น้อย จึงทำให้ประชาชนรู้สึกอึดอัดกับปัญหาค่าครองชีพ นอกจากนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูง โดยหนี้ครัวเรือนไทยได้เพิ่มขึ้นทำให้รายได้ของประชาชนไม่เพียงพอกับรายจ่าย" รมว.พาณิชย์ กล่าว

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายสินค้าและบริการพื้นฐานในชีวิตประจำวันของประชาชนหลายประเภทมีแนวโน้มสูงขึ้น และยังมีการฉวยโอกาสและเอารัดเอาเปรียบกันอยู่ ซึ่งจากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย เดือนสิงหาคม 2558 เทียบกับ กรกฎาคม 2558 สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.09 ตามการสูงขึ้นของราคาข้าวสารเหนียว ปลาน้ำทะเลสด เช่น ปลาทู ไข่ไก่ เนื้อสุกร และไก่สดมีราคาปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงปลดระวางแม่ไก่ รวมทั้งผักสดและผลไม้ เช่น ผักบุ้ง หัวหอมแดง ส้มเขียวหวาน มะละกอสุก เงาะ และฝรั่ง มีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ราคาอาหารโทรสั่ง (delivery) ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงได้ลดลงมาอย่างต่อเนื่องระยะหนึ่งแล้ว แต่ราคาสินค้าหลายๆ ชนิดยังไม่ปรับลดราคาลงมามากนัก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้มีโครงการเพื่อช่วยลดค่าครองชีพ โดยมีร้านค้าทางเลือกที่ประชาชนจะสามารถเข้าไปจับจ่ายใช้สอย ในราคาที่ประหยัดมากกว่าร้านค้าทั่วไป หรือ หากมีการวางแผนการจับจ่ายใช้สอยตามที่ทางกระทรวงพาณิชย์ กำลังให้ความสำคัญในการเชิญชวนประชาชนร่วมเป็นผู้บริโภคยุคใหม่ด้วยการรู้จัก "ฉลาดซื้อ ประหยัดใช้" ก็จะบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนได้จริงเช่นกัน

ดังนั้น จากนี้ไปกระทรวงพาณิชย์จะให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นธรรมกับผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้าที่มีต้นทุนเกี่ยวกับน้ำมันที่ยังไม่ลดลง จะเข้าไปดูแลอย่างเข้มงวด ทั้งนี้จะดำเนินการด้วยความยุติธรรม และเป็นไปตามกลไกตลาด จะต้องไม่มีใครเอารัดเอาเปรียบในสังคม และพร้อมกันนั้นจะเร่งประชาสัมพันธ์กระตุ้นพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ให้รู้จัก "ฉลาดซื้อ ประหยัดใช้" อย่างต่อเนื่อง

สำหรับการบริหารจัดการเรื่องค่าครองชีพว่าจะต้อง จัดหาสินค้าอุปโภคบริโภค ให้มีความหลากหลาย ครบถ้วน เพียงพอ และถึงมือผู้บริโภคทุกระดับ อย่างสะดวก ทั่วถึง และเป็นธรรม กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการเพิ่มเติมใน 5 เรื่องใหญ่ๆ ดังนี้

1.การกำกับดูแลราคาสินค้า โดยจะมีการวิเคราะห์ต้นทุนและราคาจำหน่ายที่เหมาะสมและเป็นธรรมตลอดจนกำกับดูแลราคาให้ราคาสินค้าสอดคล้องกับต้นทุน ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ปัจจุบันมีการกำกับดูแลราคาสินค้า จำนวน 205 รายการ ครอบคลุมทุกหมวดสินค้าเช่น หมวดอาหาร ของใช้ประจำวัน ปัจจัยการผลิต วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

กำหนดสินค้าและบริการควบคุมที่สำคัญ จำนวน 41 รายการ โดยมีการใช้มาตรการบริหารในการกำกับดูแลราคาสินค้าให้เหมาะสมและเป็นธรรมหากมีการฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่มีเหตุผลสมควรเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จะใช้มาตรการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด อีกทั้งมีการติดตามและตรวจสอบราคาสินค้าในกรุงเทพมหานคร และทุกจังหวัดทั่วประเทศ

หากประชาชนพบว่ามีการจำหน่ายสินค้าในราคาสูงเกินสมควร สามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 9 กันยายน - 30 กันยายน 2558 กระทรวงพาณิชย์ นำโดย รมว.พาณิชย์, รมช.พาณิชย์, ปลัดกระทรวงพาณิชย์, อธิบดีกรมการค้าภายใน, ผู้ตรวจราชการกระทรวง, ที่ปรึกษาการพาณิชย์ และที่ปรึกษากฎหมาย จะแบ่งสายเพื่อลงตรวจสอบราคาสินค้าทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด โดยไม่มีการบอกเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ล่วงหน้า

2.การบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน โดยการจัดงานธงฟ้าราคาประหยัด การจัดธงฟ้าเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ซึ่งเป็นการดำเนินการเป็นช่วงๆ และระมัดระวังไม่ให้กระทบต่อระบบการค้า เพื่อจำหน่ายราคาถูกในพื้นที่ชุมชนขนาดเล็กที่ประชาชนมีรายได้น้อย ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด จัดให้มีร้านอาหาร ในโครงการ “หนูณิชย์....พาชิม"จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จในราคาจาน ชามละ 25 – 35 บาท ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั่วประเทศ ประมาณ 3,245 ร้าน โดยจะเพิ่มร้านอาหารในพื้นที่ชุมชน ที่มีการจำหน่ายอาหารในราคาสูง เพื่อเพิ่มการแข่งขันและเพิ่มการเลือกให้แก่ประชาชน

การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าจำเป็นในราคาถูก โดยร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ผ่านร้านค้าสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.(สกต.) ใน 35 จังหวัด รวม 257 ร้านค้า การขานรับนโยบายของนายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในการจัดทำโครงการ "ตลาดกลาง และตลาดชุมชน" ทั่วประเทศ เพื่อจัดให้มี Zoning ที่รวบรวมสินค้าคุณภาพดีราคายุติธรรมและลดทอนการเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลางลงบ้าง โดยร่วมมือกับภาคเอกชน ส่งเสริมการจัดตั้งหรือขยายวิสาหกิจชุมชน เพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตรแก่ผู้บริโภคโดยตรง นอกจากนี้ จะมีการขยายความร่วมมือกับ ผู้ผลิตผู้จำหน่ายสินค้ารายใหญ่ ห้างค้าปลีกส่งสมัยใหม่ ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ จัดงานลดราคาจำหน่ายสินค้าในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น ตรุษจีน สงกรานต์ เปิดภาคเรียน เป็นต้น

3.การส่งเสริมให้มี Outlet ที่เพียงพอ ให้สร้างความหลากหลายให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้ามีคุณภาพได้ในราคาประหยัด ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจมากขึ้น ตลอดจนสนับสนุนผู้ค้าปลีกทีมี Model ทางธุรกิจใหม่ๆ ผู้บริโภคก็จะได้สินค้า และบริการที่มีคุณภาพราคาประหยัด และมีต้นทุนในการเข้าถึงที่ต่ำที่สุด และขณะนี้ได้ขยายระบบข้อมูลของถูกให้ไปถึงคนไทยอย่างกว้างขวาง ในรูปแบบของ "ลายแทงของถูก" ผ่าน Application "ลายแทงของถูก" ซึ่งสามารถดาวน์โหลดบนสมาร์โฟน หรือแท็บเล็ตได้แล้ววันนี้

4.การเร่งสร้างผู้บริโภครุ่นใหม่ "ฉลาดซื้อ - ประหยัดใช้" โดยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ให้ผู้บริโภคหยุดคิดก่อนตัดสินใจใช้จ่าย

5. เรื่องการสร้างเครือข่ายเพื่อติดตามตรวจสอบ เรามีสายด่วน 1569 และจะดำเนินการการสร้างเครือข่ายภาคประชาชน โดยพัฒนาเครือข่ายประชาชน "อาสาพาณิชย์" ที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อติดตามดูแลราคาสินค้าเป็นประจำและรายงานความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าให้กระทรวงพาณิชย์ทราบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งร่วมมือกับสถาบันการศึกษาร่วมเป็นอาสาพาณิชย์ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ