ปลัดแรงงานสั่งจับตาการเลิกจ้างงานหลังอัตราว่างงานเพิ่มจากภาวะศก.ชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 9, 2015 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยภาวการณ์จ้างงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.89% โดยกำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานติดตามความเคลื่อนไหวด้านการจ้างงานของธุรกิจเพื่อเฝ้าระวังการเลิกจ้างงาน หลังอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 0.8% เป็น 1% ขณะที่บอร์ดค่าจ้างยืนยันไม่ให้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เข้าร่วมประชุมพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากผิดกฎหมายและไม่เป็นอิสระ

"ภาวการณ์จ้างงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ยังคงขยายตัวอยู่ที่ 2.89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนสถานการณ์การเลิกจ้างต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเลิกจ้างอยู่ในระดับสูงที่ 46.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 3 ปี ในช่วงเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ ซึ่งอยู่ที่ 41.01% ซึ่งได้สั่งการให้ทุกจังหวัดได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านแรงงาน โดยให้จับตาแนวโน้มและสัญญาณตัวเลขการปิดกิจการ การเลิกโรงงานและความเคลื่อนไหวด้านการจ้างงานของธุรกิจทุกขนาดในพื้นที่จังหวัดอย่างใกล้ชิด อันเนื่องมาจากภาวะอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจาก 0.8% เป็น 1%" นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดค่าจ้าง) กล่าว

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ยังได้รับรายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและแรงงานเดือน ก.ค.-ส.ค.58 ซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมยังชะลอตัว มีเพียงภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของภาครัฐที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกสินค้าโดยรวมยังคงซบเซาจากความต้องการสินค้าจากประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ส่วนการบริโภคภาคเอกชนลดลงสอดคล้องกับรายได้ที่ยังไม่ดีขึ้น และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ต่ำลง รวมทั้งอุปสงค์ที่อ่อนแอทั้งในและต่างประเทศที่กระทบความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและการส่งออก ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เมื่อพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อยังคงดีอยู่ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจไทยปี 2558 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 2.8% ชะลอลงจากที่ขยายตัว 3.0% ในไตรมาส 1 และคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2558 จะขยายตัวอยู่ที่ 2.7-3.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่จะขยายตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก การขยายตัวจำนวนนักท่องเที่ยวในอัตราที่สูง รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินบาทและราคาน้ำมันรวมถึงเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำช่วยเพิ่มอำนาจการซื้อ แต่ยังมีข้อจำกัดของเศรษฐกิจโลกที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี ก็คือ การอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ตกต่ำ และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง

สำหรับผลกระทบต่อตลาดแรงงานจากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2558 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ที่ได้เสนอประเด็นสำคัญที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อตลาดแรงงานในระยะต่อไป ได้แก่ รายได้ของลูกจ้าง แม้ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนในภาพรวมยังเพิ่มขึ้น 1.4% และค่าจ้างแรงงานเอกชนที่หักเงินเฟ้อแล้วเพิ่มขึ้น 2.5% ประกอบกับการจ้างงานภาคนอกเกษตรยังเพิ่มขึ้น แต่การลดชั่วโมงการทำงานลงของผู้ประกอบการทำให้แรงงานบางกลุ่มมีรายได้เฉลี่ยลดลง ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการติดตามตรวจสอบการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายและอื่นๆ ตามสิทธิของลูกจ้าง และการหาตำแหน่งงานว่างเพื่อรองรับหากผู้ประกอบการไม่สามารถรับภาระได้จนทำให้มีการปรับลดแรงงาน รวมถึงการวางแนวทางเพิ่มทักษะแรงงานในระหว่างรอทำงาน และการเฝ้าระวังการเลิกจ้างแรงงาน จากผลกระทบการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มลดลง และการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนอกจากจะทำให้มีการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมนั้นซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรม SMEs

"ที่ประชุมฯ ได้ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เฝ้าระวังการเลิกจ้าง เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศยังอยู่ในภาวะทรงตัว ขณะที่ภาคธุรกิจส่งออกเริ่มได้รับผลกระทบ" นายนคร กล่าว

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้ให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการค่าจ้างประสานไปยังกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) พิจารณาออกประกาศให้ชัดเจนเกี่ยวกับช่างสาขาต่างๆ ที่มีการกำหนดเป็นมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 20 สาขาว่าต้องมีใบรับรองความสามารถเพื่อให้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งจะสนับสนุนช่างฝีมือที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ให้ได้รับค่าจ้างจากนายจ้างสอดคล้องตามอัตราค่าจ้างที่กฎหมายกำหนดต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณากรณีคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ยื่นข้อเรียกร้องขอเข้าร่วมประชุมบอร์ดค่าจ้างในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยมีมติไม่เห็นชอบในเรื่องนี้ เพราะผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานเนื่องจากบอร์ดค่าจ้างเท่านั้นที่มีสิทธิประชุมพิจารณา รวมถึงทำให้การพิจารณาของบอร์ดค่าจ้างไม่เป็นอิสระ สำหรับการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับขึ้นหรือไม่ ยังไม่มีการพิจารณา โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปปลายปี 2558 เนื่องจากกำลังรอข้อมูลสรุปผลวิจัยเรื่องค่าจ้างลอยตัวของ ผศ.สุจิตรา ชำนิวิกรณ์ อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ