(เพิ่มเติม1) "อาคม"พร้อมรับลูก"สมคิด"ดึงเอกชนร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมเชื่อมสู่ AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 9, 2015 17:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังรับมอบนโยบายจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจว่า แนวทางการดำเนินงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ต้องขับเคลื่อนให้นำมาสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างคุณภาพชีวิตให้ชนบท และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยแบ่งแยกออกเป็น 3 นโยบายสำคัญ คือ 1. ต้องจัดลำดับความสำคัญของโครงการให้สอดคล้องกับแนวทางดำเนินงาน 2. การจัดสรรงบประมาณที่เกิดขึ้นจะต้องบริหารแหล่งเงินอย่างเหมาะสม ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน รายได้ และเงินกู้ทั้งใน และต่างประเทศ
"นโยบายของรองนายกฯ ต้องการให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาโครงการมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐฯ เน้นหลักในรูปแบบของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) แต่จะต้องไม่เป็นรูปแบบเดิมที่ให้รัฐรับภาระการก่อสร้าง และให้เอกชนเข้ามาจัดการ แต่อาจปรับให้ออกมาเป็นในรูปแบบร่วมกันพัฒนาตั้งแต่ต้นเลย ซึ่งแนวทางขณะนี้โครงการที่อยู่ในแผนงานเดิมก็จะดำเนินตามกรอบเพื่อความเร่งด่วน เพราะหากจะต้องนำกลับมาสู่กระบวนการ PPP จะต้องล่าช้าไปอีกประมาณ 9 เดือน แต่หากเป็นโครงการใหม่ๆ ก็จะนำร่องให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนอย่างเต็มตัว" นายอาคมกล่าว

ขณะเดียวกัน นโยบายส่วนที่ 3 ได้สั่งการให้พิจารณาแผนงานจำเป็นเร่งด่วน ประกอบไปด้วย 1.โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ซึ่งได้วางนโยบายอยากให้มีการพัฒนาเชื่อมต่อจากสถานีพญาไทไปยังดอนเมืองให้เกิดขึ้นโดยเร็ว 2.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 60% มีการเร่งรัดให้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชน และ 3.แผนการแก้ไขปัญหากรมการบินพลเรือน(บพ.) เรื่องความปลอดภัยที่มีนัยสำคัญ(SSC) จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จะต้องเร่งดำเนินการตามแผนที่เคยระบุมาแล้ว ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ ได้กระชับกรอบเวลาแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.59 จากเดิมที่วางไว้ในเดือน ส.ค.59

นายอาคม กล่าวอีกว่า นอกจากนโยบายหลักที่ได้รับมอบหมาย รองนายกฯ ยังสั่งการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแนวทางขับเคลื่อนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานไปยังกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะแนวระเบียงเศรษฐกิจได้แก่ อ.แม่สอด - มุกดาหาร ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้ขยายถนนแล้ว รอการขยายระบบทางราง โดยล่าสุดจะขับเคลื่อนให้สะพานไทย - เมียนมาร์ แห่งที่ 2 เดินหน้าก่อสร้างเพื่อให้ทันรองรับการเติบโต ขณะเดียวกันโครงการเชื่อมโยงฝั่งตะวันออกและตะวันตกก็จะเร่งรัดให้ความสำคัญ เช่น รถไฟเชื่อมโยงกาญจนบุรี - กรุงเทพฯ - แหลมฉบัง

นอกจากนี้ แนวทางการพัฒนาโครงการของกระทรวงฯ หลังจากนี้จะต้องสามารถสนับสนุนคลัสเตอร์อุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ หรือปิโตรเคมี

ในส่วนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 17 โครงการ วงเงินลงทุน 1.6 ล้านล้านบาท ที่จะต้องเร่งดำเนินการให้ได้ภายใน 1-2 ปีนี้ และยืนยันว่าทุกโครงการมีความสำคัญ โดยขณะนี้สั่งให้แต่ละหน่วยงานกลับไปจัดทำกรอบการดำเนินโครงการอย่างละเอียดกลับมาเสนอภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อให้สร้างความชัดเจนและความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าจะเข้าร่วมโครงการได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายอาคม กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีแนวทางการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน(Infrastructure Fund) เนื่องจากการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวจะต้องการันตีผลตอบแทนให้กับนักลงทุนตั้งแต่ต้น ทำให้เป็นจุดอ่อน เหตุเพราะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนต่ำ ทำให้เอกชนไม่ลงทุน ดังนั้นจึงต้องใช้โมเดลให้รัฐลงทุนและให้เอกชนเข้าบริหาร แต่หากจะมีการจัดตั้งกองทุนจริงโครงการมอเตอร์เวย์มีความเป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งคงต้องกลับมาพิจารณาแนวทางกันอีกครั้ง เพราะการขับเคลื่อนงานเร็วสุดจึงต้องให้เลือกแนวทางกู้เงินไปก่อน และหากเอกชนจะเข้ามากลางคันก็สามารถทำได้

รมว.คมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ถึงการดำเนินการผู้บริหารการเดินรถว่า จากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลังมีความเห็นให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดประมูลใหม่ และให้ใช้รูปแบบร่วมทุน PPP Gross Cost หรือว่าจ้างเอกชนเดินรถเพียงอย่างเดียวแทนการเจรจารายเดิม คือ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL) ซึ่งเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในปัจจุบัน ขณะที่รฟม.ยืนยันจะเจรจาบริษัทผู้เดินรถรายเดิม และให้ใช้วิธีร่วมทุน PPP Net Cost ซึ่งให้รัฐลงทุนงานก่อสร้างและให้เอกชนจัดหาขบวนรถและบริหารการเดินรถ

นายอาคม กล่าวว่า ถ้ารฟม.จะยืนยันเช่นนี้ก็ต้องให้คณะรัฐมนตรีทบทวนใหม่ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของโครงการจากมติ ครม.เดิม โดยตนเห็นว่าควรเปิดประมูลใหม่ตามที่ สศช.และกระทรวงการคลังให้ความเห็น

"ผมก็ให้ประมูลใหม่ ถ้าทางรฟม.ยังยืนยันอยากเจรจาและใช้วิธีแบบ PPP Net Cost แทน PPP Gross Cost ที่ผ่านมาก็น่าจะเสนอ ครม.ใหม่...ขอดูรายละเอียดก่อน" นายอาคม กล่าวหลังทราบว่า รฟม.เพิ่งส่งความเห็นเรื่องการจัดหาผู้เดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

รมว.คมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าความร่วมมือโครงการรถไฟไทยและจีน เส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 873 กม.ว่า ขณะนี้ยังไม่สรุปรูปแบบการลงทุนและการเงินจนกว่าจะได้ผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ซึ่งจีนจะส่งมอบในการประชุมร่วมกันในวันที่ 10-12 ก.ย.นี้ ที่กรุงเทพฯ

โดยฝ่ายจีนได้เสนอวงเงินกู้สำหรับโครงการนี้ แต่ตนเห็นว่ายังไม่ต่ำเพียงพอ ขณะที่จีนระบุว่าแม้เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ต่ำแต่ไทยต้องเปรียบเทียบบนฐานที่เท่ากัน

"ที่เราศึกษา อัตราดอกเบี้ยทางจีนสูงกว่าเงินกู้ในประเทศ จะสรุป Term การเงินได้ต้องดูความเหมาะสม วงเงินลงทุนรวมทั้งอัตราผลตอบแทน(IRR)ของโครงการ รายงานความเหมาะสมของโครงการต้องดู เราต้องดูประโยชน์เรา คือเราต้องทำให้เร็วที่สุดเพื่อให้เกิดเร็วที่สุด"นายอาคมกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ