"การปรับลด GDP ที่ต่ำกว่า 2.9-3% เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังไม่มีการฟื้นตัว และการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆของภาครัฐยังไม่เห็นผลออกมา ทำให้การลงทุนต่างๆและการบริโภคในประเทศมีการชะลอตัว ประกอบกับตัวเลขภาคส่งออกยังมีแนวโน้มติดลบ จะมีการประชุมประมาณการตัวเลขการส่งออกต่ำกว่าเดิม หรือติดลบในเร็วๆนี้ จากเดิมที่คาดว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะไม่ขยายตัว"นางสาวลัษมณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ADB มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 59 จะกลับมาดีขึ้นจากปีนี้ หลังจากมาตรการและนโยบายต่างๆของรัฐบาลที่สนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจเห็นผลอย่างชัดเจนในปีหน้า โดยในปัจจุบันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมานั้นมี 2 ชุด คือ การเพิ่มรายได้และการกระตุ้นการบริโภคของคนที่มีรายได้น้อย และการส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งจะเห็นผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมากในปี 59 มากกว่าในปี 58 อีกทั้งการลงทุนของภาครัฐในโครงการต่างๆจะมีผลต่อเศรษฐกิจในปี 59 อย่างมาก
ประกอบกับเศรษฐกิจโลกจะดีกว่าปี 58 เนื่องจากประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้ว อย่างเช่น ยุโรป และญี่ปุ่นมีการเติบโตขึ้นหลังจากปีนี้มีการชะลอตัว และสหรัฐฯจะยังมีเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งส่งปลดีต่อการค้าของโลกไนปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้น และส่งผลดีมาต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งทำให้เอดีบีประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 59 จะขยายตัวได้ 4.2%
"ถ้าหวังการส่งผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในปลายปีนี้ก็ไม่หวังอะไรมากที่จะมาช่วยหนุน GDP ขึ้น เพราะเหลือไม่อีกกี่เดือน ถ้าขึ้นก็ขึ้นไม่เยอะมาก แต่จะเห็นผลชัดเจนในปีหน้ามากกว่า โดยเฉพาะในช่วงต้นปีหน้า มองการกระตุ้นคนรายได้น้อยนั้นก็จะทโให้เงินหมุนออกมา แต่เงินก็จะหมุนหลายรอบ นอกจากนี้มองเทรนด์การค้าโลกในปีหน้าก็จะดีกว่าปีนี้ เพราะยุโรป ญี่ปุ่น ปีหน้าก็จะมีแนวโน้มฟื้นตัว อเมริกาก็คงดีต่อเนื่อง"นางสาวลัษมณ กล่าว
นอกจากนี้ ADB มองว่าหลังจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และส่งผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปนั้น จะไม่มีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนหากภาครัฐมีมาตรการและนโยบายในการดำเนินเศรษฐกิจที่ชัดเจน เนื่องจากนักลงทุนจะมองการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นหลักว่ามีความต่อเนื่องหรือไม่
ส่วนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16-17 ก.ย.นี้ที่จะมีการพิจารณาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯนั้น ยังไม่สามารถตอบได้ว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งเฟดตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้เกิดเงินทุนไหลออกในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงประเทศไทยด้วยอย่างแน่นอน ดังนั้นนักลงทุนจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นทั้งในตลาดทุนและตลาดเงินในช่วงสั้น
"ความผันผวนหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพราะจะมีเงินไหลออก แต่คงเป็นระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากมีการคาดการณ์อยู่แล้วว่าเฟดจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ส่วนในรอบนี้ก็ยังไม่แน่นอนว่าจะขึ้นหรือไม่ ถ้าเฟดตัดสินไจยังไม่ขึ้นในรอบนี้ ก็ต้องมาดูว่าทำไมเฟดถึงยังไม่ขึ้น เขาอาจจะยังมองอะไรเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แข็งแกร่ง"นางสาวลัษมณ กล่าว