ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนส.ค.ทรงตัวต่ำสุดรอบ 1 ปี แต่แนวโน้มเริ่มฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 10, 2015 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากผลสำรวจภาวะการครองชีพของภาคครัวเรือนในเดือน ส.ค.58 พบว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ยังคงอยู่ที่ 43.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี เท่ากับเดือนก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนว่าสภาพแวดล้อมของครัวเรือนในระหว่างเดือนยังคงได้รับแรงกดดันจากหลายด้าน โดยมีเพียงปัจจัยหนุนเดียวจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันและก๊าซ LPG ที่ช่วยบรรเทาความกังวลต่อสถานการณ์ราคาสินค้าและภาระค่าใช้จ่ายบางส่วน

ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังมีความกังวลต่อประเด็นค่าครองชีพในด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาระหนี้สิน เงินออม และสถานการณ์รายได้ ซึ่งยังไม่มีปัจจัยหนุนใหม่เข้ามาในเดือน ส.ค.58 มากนัก โดยดัชนีมุมมองต่อภาระหนี้และเงินออมลดลงต่อเนื่องมาที่ระดับ 45.2 และ 46.0 ตามลำดับ ขณะที่ ดัชนีมุมมองต่อสถานการณ์รายได้ปรับตัวลงมาที่ 45.0 ในเดือนส.ค. จาก 45.4 ในเดือนก.ค.

ดัชนีองค์ประกอบทั้งในด้านการมีงานทำ และค่าตอบแทนจากการทำงานยังคงลดต่ำลงตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา สอดคล้องกับผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดที่รายงานว่า อัตราการว่างงานของประเทศเดือน ส.ค.58 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.0 เท่ากับเดือนก.ค.58 (โดยมีจำนวนผู้ว่างงานในเดือน ส.ค.58 ที่ 3.77 แสนคน ใกล้เคียงกับจำนวนผู้ว่างงาน 3.85 แสนคนในเดือน ก.ค.58)

"ปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวกับภาวะการครองชีพของครัวเรือนในเดือน ส.ค.58 (โดยเฉพาะสถานการณ์รายได้ เงินออม และภาระหนี้สิน) ที่ยังคงไม่ปรับตัวดีขึ้นมากนัก ทำให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือน ส.ค.58 ยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปีที่ 43.5 เท่ากับระดับในเดือน ก.ค.58" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

อย่างไรก็ดี ดัชนีการคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) เริ่มขยับขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ มาที่ระดับ 46.0 จากระดับ 45.0 ในเดือนก่อน ทั้งนี้ แม้ค่าดัชนีฯ จะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ 50 แต่ทิศทางที่ปรับเพิ่มขึ้นก็อาจเป็นสัญญาณว่าครัวเรือนบางส่วนน่าจะเริ่มคลายความกังวลต่อภาวะการครองชีพในอนาคตลงบ้างบางส่วน อนึ่ง มุมมองต่อสถานการณ์ 3 เดือนข้างหน้าที่เป็นเชิงลบลดลงนี้ อาจได้รับอานิสงส์จากความคาดหวังต่อข่าวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเร่งดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาด้านกำลังซื้อของครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนมาตรการกำกับดูแลราคาสินค้าและค่าครองชีพของประชาชน ที่ทยอยเปิดเผยออกมาตั้งแต่ในช่วงปลายเดือน ส.ค.58

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่ในช่วง 2-3 เดือนหลังจากนี้ ทยอยได้รับอานิสงส์มากขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเร่งลงทุนของภาครัฐ ที่ดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการดูแลค่าครองชีพของประชาชน ก็อาจช่วยส่งเสริมให้สภาพแวดล้อมในระดับครัวเรือนทยอยปรับตัวกลับมาอยู่ในบรรยากาศที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ