เงินบาทปิด 36.13/15 ระหว่างวันผันผวน ก่อนปรับตัวกลับมาแข็งค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 10, 2015 17:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้ อยู่ที่ระดับ 36.13/15 บาท/ดอลลาร์ กลับมาแข็งค่าจากช่วงเช้าเปิดตลาดที่ระดับ 36.24/26 บาท/ดอลลาร์

ระหว่างวันนี้เงินบาทค่อนข้างจะผันผวน และช่วงเย็นกลับมาแข็งค่าจากตอนเปิดตลาดในช่วงเช้า โดยปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนติดตาม คือ แนวโน้มการปรับดอกเบี้ยทั้งของธนาคารกลางสหรัฐ(FED) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า

นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 36.10 - 36.25 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • ปิดตลาดเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 121.17/20 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 120.33 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโร ช่วงเย็นอยู่ที่ระดับ 1.1187/1189 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1215 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,396.16 ลดลง 0.13 จุด (-0.01%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 36,178 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 821.69 ลบ.(SET+MAI)
  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับคาดการณ์ GDP ปี 58 เป็นโต 3.1% จากเดิม 3.2% และการส่งออกคาดว่าจะติดลบ 4.8% จากเดิมคาดโต 0.4% เนื่องจากปัจจัยที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวยังไม่ชัด สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ประกอบกับภาวะหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อัตราเงินเฟ้อ ติดลบ 0.6%

ขณะที่ในปี 59 คาดว่า GDP จะโต 4.2% แต่ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกและมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐเป็นสำคัญ การส่งออกคาดว่าจะโต 5.3% และอัตราเงินเฟ้อ ขยายตัว 1.4%

  • ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(ADB) เตรียมปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ลดลงต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ขยายตัวได้ 2.9-3% ซึ่งเป็นการปรับประมาณการครั้งที่ 2 จากที่ต้นปี 58 คาดว่า GDP ในปีนี้จะขยายตัวได้ 3.2% เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้นตัว และการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ ของภาครัฐยังไม่เห็นผล ทำให้การลงทุนและการบริโภคในประเทศชะลอตัว ประกอบกับตัวเลขภาคส่งออกยังมีแนวโน้มติดลบ ซึ่ง ADB จะประชุมปรับประมาณใหม่ในเร็วๆ นี้
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากผลสำรวจภาวะการครองชีพของภาคครัวเรือนในเดือน ส.ค.58 พบว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ยังคงอยู่ที่ 43.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี เท่ากับเดือนก่อนหน้า สะท้อนว่าสภาพแวดล้อมของครัวเรือนในระหว่างเดือนยังคงได้รับแรงกดดันจากหลายด้าน แต่ดัชนีการคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เริ่มขยับขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ มาที่ระดับ 46.0 จากระดับ 45.0 ในเดือนก่อน เป็นสัญญาณว่าครัวเรือนบางส่วนน่าจะเริ่มคลายความกังวลต่อภาวะการครองชีพในอนาคตลงบ้างบางส่วน
  • สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ 31 กรกฎาคม 2558 มีจำนวน 5,718,472.95 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.85 ของ GDP เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 33,982.19 ล้านบาท
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรที่เปิดรับสมัครโดยสถานประกอบการในสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 5.75 ล้านตำแหน่งในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในปี 2543 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวะแข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐ
  • ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ถึงแม้จะยอมรับว่า BOJ อาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ได้ในปีหน้าตามที่คาดไว้ โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะมีอัตราการขยายตัวที่เป็นบวกในไตรมาสสิ้นสุดเดือนก.ย. และญี่ปุ่นยังมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวในระดับปานกลางต่อไป

ทั้งนี้ GDP ของญี่ปุ่นหดตัวลง 1.2% ในไตรมาส 2 ขณะที่ตลาดวิตกว่า GDP จะติดลบในไตรมาส 3 ซึ่งจะเป็นการหดตัวลง 2 ไตรมาสติดกัน และมักมีการประเมินว่าภาวะดังกล่าวหมายถึงการเข้าสู่ภาวะถดถอย

  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เปิดเผยว่า จีนเตรียมปฏิรูประบบคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รายไตรมาส เพื่อที่จะติดตามความผันผวนทางเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ดีขึ้น
  • สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เปิดเผยว่า ราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงปรับตัวลดลง 130 ดอลลาร์ฮ่องกง ปิดที่ระดับ 10,250 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึงในวันนี้ ราคาดังกล่าวเทียบเท่ากับ 1,110.2 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ ลดลง 14.08 เซนต์ ที่อัตราแลกเปลี่ยนล่าสุด 1 ดอลลาร์สหรัฐ/ 7.75 ดอลลาร์ฮ่องกง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ