รมว.เกษตรฯ เผยเตรียมส่งคณะผู้แทนเจรจาอียู 12-17 ก.ย.หลังเสนอกม.-แผนป้องกัน IUU แล้ว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 11, 2015 10:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมว.เกษตรและสหกรณ์ เผยแจงคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาการประมง IUU เตรียมส่งคณะผู้แทนเจรจาสหภาพยุโรป(EU) ช่วงวันที่ 12-17 ก.ย.นี้ หลังเสนอกฎหมายและแผนป้องกันประมงผิดกฎหมายของไทยให้อียูรับทราบแล้ว

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เผยขณะนี้การแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU) มีความก้าวหน้าใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง ซึ่งได้มีการจับกุมดำเนินคดีแล้วจำนวน 494 คดี และผู้ต้องหา 3,012 ราย ขณะที่การดำเนินงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง(PIPO) จำนวน 28 ศูนย์ มีการแจ้งออก 52,604 ครั้ง แจ้งเข้า 48,553 ครั้ง

2.ระบบติดตามตำแหน่งเรือ(VMS) นอกจากกรมประมงได้จัดตั้งศูนย์ VMS ที่ส่วนกลางเรียบร้อยแล้ว ยังได้ปรับปรุงสถานีวิทยุประมงชายฝั่ง จำนวน 15 แห่ง เพื่อรองรับระบบ VMS ในส่วนภูมิภาค และติดตั้ง VMS ในเรือตรวจการประมง ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติให้ใช้งบกลางจำนวน 28.53 ล้านบาท โดยการติดตั้ง VMS ในเรือประมงไทย ซึ่งกรมประมงได้กำหนดระยะเวลาการติดตั้งระบบ VMS โดยเรือประมงขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไปจะต้องติดตั้งระบบ VMS ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 16 กันยายน 2558 โดยขณะนี้มีการติดตั้งแล้ว 2,108 ลำ จากเป้าหมาย 2,216 ลำ และเรือประมงขนาด 30-60 ตันกรอสติดตั้งแล้ว 300 ลำ จากเป้าหมาย 2,000 ลำ จะต้องติดตั้งก่อนวันที่ 22 ตุลาคม 2558 หากผู้ประกอบการประมงฝ่าฝืนและไม่ติดตั้งระบบ VMS ภายในระยะเวลาที่กำหนดจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายที่กรมประมงกำหนด

3.การตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability) กรมประมงได้จัดทำคู่มือด้านการตรวจสอบย้อนกลับสำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน พร้อมอบรมหลักสูตรการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการกรอกสมุดบันทึกการทำประมง(fishing logbook) โดยได้ดำเนินการไปแล้ว 1,010 คน อบรมหลักสูตรการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการกรอกหนังสือกำกับการซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำ(MCPD) รวม 490 คน และอยู่ระหว่างการจัดทำระบบบันทึกการทำประมงแบบอิเลคโทรนิคส์(e-logbook) ด้วย ซึ่งกรมประมงจะเร่งดำเนินการอบรมให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ เพื่อขยายผลให้ครอบคลุมชาวประมง ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงต่อไป

4.การจัดเตรียมเอกสารให้สหภาพยุโรป ขณะนี้กรมประมงได้ดำเนินการจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูของไทย ไปให้ทางอียูเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย ร่างพระราชกำหนดการประมง แผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมง IUU(NPOA-IUU) แผนบริหารจัดการประมงทะเล แผนการปรับปรุงระบบตรวจสอบย้อนกลับ แผนควบคุม และตรวจตราการทำประมงแห่งชาติ แผนการป้องกันการใช้แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ในภาคประมง ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 12-17 ก.ย.นี้ คณะผู้แทนฝ่ายไทยจะเข้าหารือร่วมกับทางอียู เพื่อรับทราบข้อสรุปที่เป็นไปตามมาตรฐานอียู

5.การดำเนินการเพื่อช่วยเหลือชาวประมงที่ได้ผลกระทบจากมาตรการบริหารจัดการประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมของราคากลางในการซื้อ-ขายเรือประมง พร้อมส่วนประกอบ และ คณะกรรมการพิจารณากลุ่มผู้ประกอบการที่สมควรได้รับเงินชดเชยจากการหยุดออกเรือประมงและความเหมาะสมของวงเงิน ซึ่งได้มีการจัดประชุมแล้วเมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในเบื้องต้นที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณากลุ่มผู้ประกอบการฯมีมติเห็นชอบกรอบการคิดค่าชดเชยที่เสนอโดยสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และจะนำผลการประชุมรายงานต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช. เมื่อวันที่ 9 ก.ย.58 เพื่อให้ความเห็นชอบในหลักการเบื้องต้น พร้อมจัดทำร่างหลักเกณฑ์การชดเชยและนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ