ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดกนง.รอบนี้คงดอกเบี้ย รอติดตามตัวแปรสำคัญนโยบายการเงินเฟด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 11, 2015 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมรอบที่ 6 ของปี 2558 ในวันที่ 16 ก.ย.58 นี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจต่างประเทศของไทย ภายใต้บริบทความผันผวนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง จากคาดการณ์ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ทั้งนี้ มาตรการทางการเงินคงเป็นปัจจัยช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ปัจจัยหลักในการผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคงมาจากมาตรการทางการคลังของภาครัฐ ที่รัฐบาลได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ขณะที่ปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงค่อนข้างมาก พอจะสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการส่งออกได้บ้าง

สำหรับปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่ทำให้ประเมินว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยในการประชุมรอบหน้านี้ ปัจจัยแรก การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มเติมในระยะนี้ อาจจะกระทบต่อเสถียรภาพของค่าเงินบาท รวมทั้งสร้างความผันผวนแก่ตลาดการเงินเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงมองว่า กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลเสถียรภาพภายนอกประเทศ ควบคู่กับการรอติดตามจังหวะและการส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในการประชุมเฟดในวันที่ 16-17 ก.ย.นี้

ปัจจัยที่สอง การดำเนินนโยบายการคลัง คงจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งจะทำให้ กนง.ยังมีพื้นที่สำหรับการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบัน และปัจจัยที่สาม การอ่อนค่าของค่าเงินบาทและปัจจัยด้านฤดูกาล น่าจะช่วยส่งผลดีต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจจะช่วยหนุนนำการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไปได้

"กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลเสถียรภาพภายนอกประเทศ ควบคู่กับการรอติดตามจังหวะและการส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในการประชุมเฟดในวันที่ 16-17 กันยายนนี้" เอกสารเผยแพร่ระบุ

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า ได้แก่ ทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่อาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อันอาจจะส่งผ่านไปยังต้นทุนทางการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ตลอดจนการส่งสัญญาณถึงเส้นทางในการปรับนโยบายการเงินในระยะต่อไป ที่คงส่งผลต่อความผันผวนทางการเงินตลอดจนกระแสการไหลของเงินทุนในตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทยด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ