"กระทรวงฯ ได้หารือร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง กรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ตรวจสอบตั้งแต่การขนย้ายน้ำมันปาล์ม การลักลอบนำเข้าตามแนวชายแดน การลักลอบนำเข้าทางทะเล การขนย้ายผ่านแดน และการสำแดงพิกัดสินค้าเป็นอย่างอื่น เพื่อให้สามารถควบคุมติดตามน้ำมันปาล์มได้ทั้งระบบ" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
ล่าสุด คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.) ได้กำหนดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมปาล์มทั้งระบบต้องแจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ บัญชีซื้อขาย โดยให้เพิ่มผู้ที่จะต้องแจ้งเพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดให้โรงงานสกัดและโรงกลั่นเท่านั้นที่ต้องแจ้ง คือ ลานเท ผู้ประกอบการซื้อหรือขาย คลังรับฝาก ผู้ค้าส่ง ค้าปลีก ยี่ปั๊ว ที่มียอดขาดตั้งแต่เดือนละ 500 ตันขึ้นไป และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มียอดซื้อตั้งแต่เดือนละ 500 ตันขึ้นไป โดยให้แจ้งภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป นอกจากนี้ ยังกำหนดให้โรงงานสกัดต้องแสดงอัตราร้อยละของน้ำมันปาล์มที่ผลิตได้จากการรับซื้อผลปาล์ม หรือในจุดที่เห็นได้ชัด
น.ส.ชุติมา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ขอประกาศความชัดเจนในการรับซื้อผลปาล์มดิบจากเกษตรกรว่าจะต้องเป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(ส.กกร.) โดยต้องรับซื้อผลปาล์มดิบที่เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 17% ในราคากก.ละ 3.20 บาท ห้ามซื้อต่ำกว่านี้ และให้ถือว่าราคา 3.20 บาท เป็นราคาขั้นต่ำสุดที่กำหนดให้รับซื้อ แต่ถ้าต่อไปราคาตลาดเพิ่มขึ้น ก็ต้องรับซื้อในราคาสูงขึ้นตามไปด้วย
"ขอยืนยันไว้ตรงนี้ ราคาขั้นต่ำสุดที่ให้ซื้อผลปาล์มดิบเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 17% อยู่ที่กก.ละ 3.20 บาท แต่ถ้าเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงขึ้นก็ให้ซื้อเพิ่มขึ้นเปอร์เซ็นต์ละ 30 สตางค์ หรือถ้าทำได้ถึง 21% ก็อยู่ที่ราคากก.ละ 4.40 บาท โดยราคารับซื้อดังกล่าว ถือว่าเกษตรกรมีกำไร และคุ้มต้นทุน และยังเป็นราคาที่สอดคล้องกับราคาตลาดโลกขณะนี้ที่ปรับตัวลดลง" ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าว
ปัจจุบัน ต้นทุนการปลูกปาล์มอยู่ที่ กก.ละ 3.13 บาท หากรวมค่าขนส่งอีก 25 สตางค์ ก็จะอยู่ที่ กก.ละ 3.38 บาท ซึ่งเป็นต้นทุนของเกษตรกรรายย่อย แต่หากเป็นสวนปาล์มขนาดใหญ่ ต้นทุนจะอยู่ที่ 2.50 บาทเท่านั้น
ด้านนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมฯ จะเข้าไปตรวจสอบใบอนุญาตขนย้ายน้ำมันปาล์มดิบในเส้นทางที่ต้องมีการขนส่ง โดยเฉพาะจากภาคใต้ขึ้นมาภาคกลาง เพื่อดูว่าปริมาณที่แจ้งขนย้ายตรงกับปริมาณที่บรรทุกจริงหรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบนำเข้า