"สมคิด"จ่อตั้งกก.ดูแลการใช้งบ 1.3 แสนลบ.หลังภาคประชาสังคมห่วงการเบิกจ่าย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 11, 2015 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้(10 ก.ย.) ได้ร่วมคณะประชาสังคม 5 หน่วยงานเข้าพบนายสมคิด จาตุรศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในการใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยจากธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ให้กองทุนหมู่บ้าน 60,000 ล้านบาท เงินสนับสนุนความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท วงเงิน 37,913 ล้านบาท และมาตรการกระตุ้นการลงทุนโครงการขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาทวงเงิน 40,000 ล้านบาท เพื่อเข้าสู่ภาคสังคมและประชาชนรากหญ้าอย่างแท้จริง โดยมี นพ.มงคล ณ สงขลา ตัวแทนสมัชชาสุขภาพ และภาคประชาสังคมจาก สสส. เข้าพูดคุยด้วย

ทั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนบทเรียนเรื่องการใช้งบประมาณที่เข้าสู่ประชาชนรากหญ้าของรัฐบาลในอดีต เนื่องจากมีความกังวลว่าจะเกิดปัญหาในการเบิกจ่ายในลักษณะเดิม โดยเฉพาะกระบวนการดูแลหรือกระบวนการตรวจสอบที่มีคุณภาพ โดยได้เสนอให้มีการดูแลโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แทนจากอดีตที่มีเพียงข้าราชการหรือฝ่ายการเมืองเท่านั้น

"เงินในอดีตที่ลงไปเป็นแค่เงินบริโภค ไม่มีการลงทุน รายได้ที่ยั่งยืนก็หายไป ครั้งแล้วครั้งเล่า และหลายรัฐบาล การที่คุณสมคิดเข้ามาจึงควรทำให้แตกต่าง ซึ่งท่านก็เห็นด้วย เพราะจะหวังพึ่งฝ่ายราชการอย่างเดียวคงไม่ได้ ดังนั้นท่านจึงเชิญทั้งภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจเข้าพูดคุย"นพ.พลเดช กล่าว

พร้อมมองว่า ภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจต่างก็ทำงานใกล้ชิดกันในหลายๆ เรื่องและหลายโครงการตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นการเข้าถึงนโยบายนี้ก็สามารถเดินหน้าได้ทันที โดยเฉพาะความต้องการจัดสรรงบประมาลงไปในพื้นที่"แบบห่าฝน"อย่างรวดเร็ว ทั้ง 2 ภาคจึงเสนอตัวเข้ามาอยู่ในขั้นตอนการดูแลการใช้เม็ดเงิน 1.3 แสนล้านบาท มีการเสนอเปลี่ยนจากงบประมาณที่จัดสรรเพื่อใช้จ่ายเพื่อการบริโภคมาเป็นการลงทุนเพื่อสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และฐานทรัพยากร ซึ่งเป็นฐานรากต่อเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืน เช่น ด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อได้เงินมา 5 ล้านบาท ก็นำทุนนี้มาเป็นทุนทางสังคมเพื่อสิ่งแวดล้อม อาจจะนำมาปลูกป่าเพื่อแก้ปัญหาเขาหัวโล้น และจะเป็นฐานของทรัพยากรจากต้นไม้ หรือบางตำบลอาจจะนำเงิน 5 ล้านบาทไปซ่อมแซมห้องน้ำในสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนประเภทโบราณสถานหรือสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติในท้องถิ่นตนเอง หรือการขุดบ่อน้ำเพื่อต่อยอดเลี้ยงปลาที่ยั่งยืน เป็นต้น

จากการหารือมีข้อเสนอว่า อาจจะดำเนินการสนับสนุนในลักษณะของ"เมนู"หรือข้อแนะนำ แต่ประชาชนจะเป็นผู้เลือกโครงการของตัวเอง แต่ก็ยังเปิดกว้างให้ชุมชนคิดโครงการของตัวเองขึ้นมาก่อนที่จะรับการแนะนำโดยไม่มีการบังคับ

"จะมีเครื่องมือในการขับเคลื่อนเงิน 1.3 แสนล้าน ได้แก่ เมนูแนะนำโครงการที่นักวิชาการนักธุรกิจมาช่วยกันคิด มีการจัดตั้งเวทีสาธารณะระดับอำเภอที่จะเปิดทุก 3 เดือนเพื่อให้ชาวบ้าน ปราชญ์ นักธุรกิจ ข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น มาหารือกันว่าเงินจาก 3นโยบายหลักไปตกอยู่ที่ใดบ้าง ทุกพื้นที่ตำบล อำเภอนำเงินไปใช้ประโยชน์อะไร มีการติดตาม มีบทเรียนอะไรที่จะแก้ปัญหาได้ สามารถตรวจสอบในตัวมันเองได้เพื่อความโปร่งใสได้ สุดท้ายคือเครื่องมือในอนาคตที่อาจจะเป็นกลไกในเชิงนโยบาย มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนระดับประเทศและระดับจังหวัดต่อไป"นพ.พลเดช กล่าว

พร้อมระบุว่า นายสมคิด ยอมรับว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่ค่อยคุ้นเคยกับภาคประชาสังคมมากนัก ที่ผ่านมาเมื่อต้องการความมีส่วนร่วมจะได้จากภาคธุรกิจมากกว่า ดังนั้นจึงควรมีภาคการร่วมมือของทุกฝ่ายในลักษณะ"ประชารัฐ"

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ ภาคประชาสังคมและภาคธุรจกิจจะมีการประชุมใหญ่ ที่เมืองทองธานี เพื่อขับเคลื่อนนโยบายนี้ไปพร้อมกับรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่อีกคณะ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้ประชุมร่วมกับนายสมคิด ถึงมาตรการของรัฐบาลที่จะลงไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจากงบประมาณ 137,913 ล้านบาท หลังจากที่นายสมคิด และรัฐบาลมีแนวคิดที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่สอดคล้องกับแนวทางที่มูลนิธิปิดทองหลังพระเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ผลจริงมาแล้ว จึงเห็นว่าทางรัฐบาลไม่ต้องไปคิดใหม่ทำใหม่ สามารถนำแนวทางของมูลนิธิปิดทองหลังพระไปต่อยอดได้เลย จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้

ทั้งนี้ ตามกระบวนการของกระทรวงมหาดไทยทางจังหวัดจะกลั่นกรองโครงการก่อนอนุมัติโครงการส่งไปยังสำนักงบประมาณระดับเขตพื้นที่ โดยให้ระดับจังหวัดเป็นศูนย์กลางในการกระจายงบประมาณ ระยะเวลาดำเนินการเสนอแผนภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ และให้เบิกจ่ายเงินพร้อมดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค.58

อย่างไรก็ดี มีการยกตัวอย่างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามพระราชดำริ ซึ่งมีกว่า 3,000 โครงการ ซึ่งชาวบ้านจะต้องมีน้ำเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะสร้างอาชีพ โดยโครงการต้นแบบที่มูลนิธิปิดทองหลังพระดำเนินการมาก่อนหน้านี้ เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำที่ จ.อุดรธานี ตั้งงบประมาณไว้ 1.2 ล้านบาท ใช้งบประมาณจริง 1.18 ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการ 20 วันแล้วเสร็จ และยังมีอีก 4 โครงการ ที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกันดำเนินการแล้วเสร็จ 5-7 วัน บางแห่งใช้งบประมาณเพียง 200,000 บาท

นอกจากนี้ หลังจากพัฒนาแหล่งน้ำเป็นตัวตั้งแล้วจะสามารถต่อยอดไปยังอาชีพเกษตร การแปรรูปเกษตร และการตลาด ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทยซึ่งจะมีบทบาทสำคัญที่สุด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ