ในส่วนคลื่น 900MHz ที่ยังมีกรณีพืพาทกับ บมจ.ทีโอที ซึ่งเป็นเจ้าของคลื่น และบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC)เป็นผู้ได้รับสัญญาสัมปทานและจะหมดอายุสัญญาในวันที่ 30 ก.ย.58 จะนำคลื่นไปให้กสทช.เปิดประมูลนั้น ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทีโอทีไม่เห็นด้วยและเตรียมฟ้องต่อศาล พล.อ.อ.ประจิน และนายอุตตม สาวกยน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ได้นัดหารือกับทีโอที รวมทั้ง บมจ.กสท.โทรคมนาคม(CAT)ในวันพรุ่งนี้ และในวันที่ 18 ก.ย.นี้ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 25 ก.ย.58 จากนั้นจะเสนอต่อครม.ให้ทันภายในเดือน ก.ย.นี้
ส่วนกรณีของ CAT นั้นได้คืนคลื่นจำนวน 4.8 MHz ให้ กสทช.อย่างไม่มีเงื่อนไขเพื่อนำไปรวมประมูลในคราวเดียว จะทำให้จะมีจำนวนคลื่น 30 MHz แบ่งเป็นใบอนุญาตละ 15MHz จากที่ประกาศก่อนหน้าที่ระบุใบอนุญาตจะมีจำนวน 12.5 MHz /ใบ โดยจะหารือว่าจะต้องแก้ไขสัญญาสัมปทานอย่างไรให้เร็วก่อนที่จะมอบคลื่นได้ทันเดือน พ.ย.นี้ และอาจจะนำเสนอให้ ครม.ให้ความเห็นชอบ หรือรมว.ไอซีทีมีอำนาจดำเนินการได้เองหรือไม่
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ในส่วนที่เหลืออีก 20 MHz สำหรับคลื่น 1800MHz ของ CAT นั้น ยังมีใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่จะหมดอายุสัญญาในปี 61 ส่วนใบอนุญาตประกอบกิจการจะหมดอายุในปี 68 ซึ่งไม่สอดคล้องกันนั้นจะมีการหารือเพื่อหาทางออก ซึ่งต้องศึกษาและทำความเข้าใจรวมถึงผลกระทบก่อน อย่างไรก็ดีเมื่อหมดอายุแล้วก็จะต้องคืนคลื่นให้กับ กสทช.เพื่อนำไปประมูลต่อไป
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ เลขาธิการสำนักงาน กสทช. กล่าวว่า กสทช.จะยังคงกำหนดการการเปิดประมูลคลื่น 900 MHz ในวันที่ 15 ธ.ค.58 จะไม่เลื่อนขึ้นเร็ว หรือเลื่อนช้าออกไป ยกเว้นแต่จะมีคำสั่งศาลให้ชะลอการประมูลออกไป ซึ่งทาง กสทช.ก็จะต้องทำตามคำสั่งศาล
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการ กสทช.จะพิจารณาร่างหลักเกณฑ์ประกวดราคาคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และเมื่ออนุมัติแล้วจะลงประกาศราชกิจจานุเบกษาก่อนวันที่ 23 ก.ย.นี้ ทั้งนี้ การดำเนินงานยังคงเป็นไปตามกรอบระยะเวลาเดิม
นอกจากนี้ กสทช.ยังได้รายงานภาพรวมว่าปัจจุบันที่มีคลื่นความถี่ย่าน 400-2600 MHz ที่มีหลายหน่วยงานเป็นเจ้าของ โดยต้องการให้รัฐบาลได้นำไปพิจารณาและตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับคลื่นความถี่ที่มีอยู่แต่ไม่ได้ใช้งาน นอกจากนี้ก็ยังจะสานต่อโครงการเศรษฐกิจดิจิตัลต่อไป