ฝ่ายจีนได้ส่งเอกสารผลการศึกษาฯ เบื้องต้นให้แก่ฝ่ายไทยแล้ว เมื่อวันที่ 31 ส.ค.58 สรุปผลการศึกษาฯ โดยรายงานผลการศึกษาฯ ยังไม่สมบูรณ์ ฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายจีนจัดทำผลการศึกษาเพิ่มเติมหลายส่วน เช่น ประมาณการราคามูลค่าการก่อสร้างโครงการ ประมาณการรายได้จากการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ซึ่งจะต้องมีความสัมพันธ์กับรายงานผลการศึกษาฯ ในช่วงที่ 2 แก่งคอย – มาบตาพุด และช่วงที่ 4 นครราชสีมา – หนองคาย เป็นต้น ซึ่งฝ่ายจีนจะดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมให้เสร็จสมบูรณ์ภายใน 1 เดือน
ดังนั้น ฝ่ายจีนจะส่งรายงานผลการศึกษาฯ ช่วงที่ 2 และช่วงที่ 4 ให้ฝ่ายไทยภายในเดือน พ.ย.58 ซึ่งเร็วกว่าแผนงานเดิมที่กำหนดแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.58
ขณะที่กระทรวงคมนาคม โดย การรถไฟแห่งประเทศไทย จะจ้างที่ปรึกษาเพื่อตรวจสอบข้อมูลของผลการศึกษาฯ ทั้งหมด
สำหรับแผนการดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ – แก่งคอย และช่วงที่ 3 แก่งคอย – นครราชสีมา จากเดิมที่กำหนดไว้ว่า จะเริ่มการก่อสร้างในวันที่ 23 ต.ค.58 นั้น จะต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนแผนงานการก่อสร้างออกไป เพื่อรอผลการศึกษาฯ ที่สมบูรณ์
นายอาคม กล่าวว่า รูปแบบความร่วมมือและรูปแบบการลงทุน ทั้งสองฝ่ายยังคงเห็นชอบในรูปแบบความร่วมมือในการดำเนินโครงการแบบ EPC (Engineering Procurement and Construction) ส่วนแหล่งเงินทุนและอัตราดอกเบี้ย ฝ่ายจีนได้ยืนยันที่จะให้แหล่งเงินกู้ เงื่อนไข และอัตราดอกเบี้ยที่ดีที่สุดกับประเทศไทย ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง จะจัดทำข้อมูลเรื่องระบบและขั้นตอนการกู้เงินจากต่างประเทศของไทยให้ฝ่ายจีนได้รับทราบ
ส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการฝึกอบรมบุคลากร ฝ่ายไทยได้จัดส่งบุคลากรรุ่นแรก เข้ารับการฝึกอบรมที่สาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว จำนวน 30 คน และรุ่นที่ 2 จะจัดส่งเข้ารับการฝึกอบรมในเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งเร็วกว่าแผนงานเดิมที่กำหนดไว้
ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันที่จะต้องสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ระบบเทคโนโลยีของรถไฟจากจีน โดยการจัดสัมมนาทางวิชาการ เพื่อให้สื่อมวลชนและสาธารณะชนได้รับทราบ
ทั้งนี้ การจัดประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 27 – 28 ต.ค.58 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน