“แนวโน้มการลงทุนในกลุ่มกิจการที่เกี่ยวกับ วทน. ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก โดยในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-กรกฎาคม 2558) บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกิจการกลุ่ม วทน. รวมแล้วทั้งสิ้น 72 โครงการ เงินลงทุนกว่า 21,678 ล้านบาท" เลขาบีโอไอกล่าว
สำหรับประเภทการลงทุนที่ได้รับความสนใจเรียงตามลำดับสูงสุด ได้แก่ 1. กลุ่มกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์ 21 โครงการลงทุนรวม 7,704 ล้านบาท 2. กลุ่มกิจการเทคโนโลยีชีวภาพ 4 โครงการ ลงทุน 2,478 ล้านบาท 3. กลุ่มกิจการวิจัยและพัฒนาด้านต่างๆ 6 โครงการ ลงทุน 1,401 ล้านบาท 4. กลุ่มกิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ 8 โครงการ ลงทุน 873 ล้านบาท 5. กลุ่มกิจการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ และชิ้นส่วนที่มีการออกแบบทางวิศวกรรม 13 โครงการ ลงทุน 438 ล้านบาท 6. กลุ่มกิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ 2 โครงการ ลงทุน 48 ล้านบาท และสุดท้ายคือ กลุ่มกิจการบริการออกแบบทางวิศวกรรม 4 โครงการ ลงทุน 12 ล้านบาท
ในวันนี้มีพิธีลงนามความร่วมมือการส่งเสริม และสนับสนุนภาคเอกชนด้านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ บีโอไอ โดยภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ทั้ง 2 ฝ่าย จะร่วมกันดำเนินกิจกรรมและมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคเอกชน ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้าน วทน. รวมถึงการประสานความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยของรัฐ เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอำนวยความสะดวกด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมทั้งสนับสนุนกองทุน การสร้างเครือข่ายเพื่อกระตุ้นการลงทุนฯ
ด้านนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า รัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายจัดแพ็คแก็จเพื่อส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และกำลังจัดทำมาตรการสร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอี รวมถึงการสร้างและบ่มเพาะธุรกิจใหม่ เชื่อมโยงภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคการผลิตและบริการ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการผลักดันให้ประเทศไทยออกจากประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่เป้าหมาย 1% ของจีดีพี ในสัดส่วนเอกชนต่อรัฐ 70:30 ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินการสนับสนุนในหลายมาตรการ อาทิ มาตรการยกเว้นภาษีที่เกิดจากค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากเดิม 200% เพิ่มเป็น 300% โครงการทาเล้นท์โมบิลิตี้ ปลดล็อคให้นักวิจัยในสถาบันศึกษาและหน่วยงานวิจัยของภาครัฐในประเทศได้ไปสนับสนุนการทำงานของภาคเอกชน การสนับสนุนด้านฐานข้อมูลห้องปฏิบัติการเพื่อการบริการมาตรฐานและทดสอบผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ one-stop service เป็นต้น