ไทย-มาเลย์-อินโดฯ จับมือเพิ่มใช้ยางในปท. 10%-ดึงกลุ่ม CLMV ร่วมสร้างอำนาจต่อรอง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 15, 2015 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยถึงผลการประชุมภาคีประเทศผู้ปลูกยางพารา 3 ประเทศ ครั้งที่ 25 หรือ The 25thMeeting of International Tripartite Rubber Council (ITRC) ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 10-11 กันยายน 2558 ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุม ITRC ซึ่งมีประเทศสมาชิก ได้แก่ มาเลเชีย อินโดนีเซีย และไทย ได้มีมติเห็นชอบร่วมกันกำหนดเป้าหมายขยายการใช้ยางพาราในแต่ละประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 10% จากเดิมที่มีการใช้ไม่เกิน 5% โดยให้แต่ละประเทศกำหนดมาตรการที่มีความชัดเจน เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาตลาดส่งออก และช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางพารามีช่องทางทางการตลาดเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับแนวทางขยายการใช้ยางพาราในประเทศ ทั้ง 3 ประเทศเห็นตรงกันว่าสามารถใช้ยางพาราราดถนนทดแทนยางมะตอยได้ ซึ่งจะมีความคงทนสูงกว่า ขณะเดียวกันยังสามารถใช้ยางพาราปูพื้นสนามกีฬา สนามเด็กเล่น ตลอดจนใช้ปูพื้นคอกสัตว์เพื่อกันลื่นได้ ขณะที่มาเลเชียได้กำหนดให้สถานพยาบาลของรัฐใช้ถุงมือยางที่ทำจากยางพารา โดยมีการศึกษามาตรฐานถุงมือยางให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานความปลอดภัย

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯยังได้เร่งรัดการศึกษาวิจัยด้านคาร์บอนเครดิตของผลิตภัณฑ์ยางพาราแต่ละชนิด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปลูกสร้างสวนยางอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดโอกาสให้สวนยางพาราเป็นส่วนหนึ่งของตลาดคาร์บอนเครดิต จะช่วยให้เกษตรกรรายย่อยมีรายได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งยังจะปล่อยให้ราคายางพาราเป็นไปตามกลไกของตลาดปกติ และทั้ง 3 ประเทศยังมอบหมายให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทำการศึกษารูปแบบและความเป็นไปได้ในการจัดตั้งตลาดยางพาราในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งคาดว่า ผลการศึกษาดังกล่าวจะเสร็จสิ้นในปี 2559 และเป็นตลาดสำหรับภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริง

รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า ในที่ประชุม ITRC ครั้งนี้ ยังได้หารือกับผู้แทนของกัมพูชาและเวียดนามซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางเป็นจำนวนมากและมีความพร้อมให้เข้าร่วมเป็นภาคีผู้ผลิตยางพาราด้วย ขณะที่ สปป.ลาว และเมียนมาร์ อยู่ระหว่างการตัดสินใจเข้าร่วมภาคีฯเช่นกัน ซึ่งคาดว่าการผนึกกำลังของประเทศผู้ผลิตยางพาราครั้งนี้ จะสามารถช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองทางการค้า และเป็นโอกาสดีที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวสวนยางพารารายย่อยให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ