ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์และทิศทางราคาน้ำมันของกระทรวงพลังงานพบว่าในปัจจุบันและไปจนถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายปี นี้ ราคาน้ำมันน่าจะอยู่ในระดับทรงตัว และมีความเป็นไปได้น้อยที่ราคาน้ำมันจะปรับขึ้นสูง สำหรับราคาน้ำมันดิบ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากอุปทานน้ำมันที่ล้นตลาด การผลิตเชลล์แก๊ส (Shale Gas) ของสหรัฐอเมริกาและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า โดยประเมินว่าราคาจะลดลงจากประมาณ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในช่วงสัปดาห์ก่อนเป็น 45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในสัปดาห์นี้ และคาดว่าจะลดลงไปถึง 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในช่วงสัปดาห์ต่อไป
นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญคือความเคลื่อนไหวของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) มีทีท่าว่ายังไม่ประกาศลดกำลังการผลิต จึงยังทำให้ราคาน้ำมันอยู่ในทิศทางขาลง รวมไปถึงผลจากการผลิตเชลล์แก๊สขึ้นมาใช้เอง แทนการนำเข้าน้ำมันของสหรัฐฯ ประกอบกับสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะความคลี่คลายปัญหานิวเคลียร์ในประเทศอิหร่าน และทำให้อิหร่านส่งออกน้ำมันได้มากขึ้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งทำให้อุปทานน้ำมันล้นตลาดและส่งผลให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง
“กระทรวงพลังงานจะได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิด โดยการปรับลดราคาน้ำมันขายปลีกของไทย ทั้งในกลุ่มเบนซิน แก๊สโซฮอล์ทุกชนิด และกลุ่มดีเซล กระทรวงพลังงานขอยืนยันว่า ได้ปรับลดลงสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกอย่างทันท่วงที โดยในช่วงที่ผ่านมาจากราคาเฉลี่ยในตลาดโลกที่มีการปรับตัวลดลงซึ่งเมื่อเทียบกับการคำนวนราคาขายปลีกในประเทศได้สะท้อนการปรับตัวลดลงของตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง"นายชวลิต กล่าว
นายชวลิต กล่าวเพิ่มว่า แม้ทิศทางของสถานการณ์ราคาน้ำมันจะอยู่ในช่วงขาลง แต่กระทรวงพลังงานก็ต้องการความร่วมมือจากประชาชนในการประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะมาตรการที่ทำได้ง่าย ๆ สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ที่จะช่วยลดการใช้น้ำมัน เช่น การเติมลมยางให้อยู่ในระดับพอดีไม่ให้อ่อนและแข็งเกินไป การขับรถไม่เกิน 90 กม.ต่อชั่วโมง การไม่บรรทุกสิ่งของมากเกินความจำเป็น และการตรวจเช็คเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ก็จะช่วยให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ และจะช่วยให้ประเทศประหยัดเงินได้มากยิ่งขึ้นด้วย