"ร่างกฎหมายส่งเสริมการลงทุนตัวเดิมที่ออกมาใช้ในปี 2520 แม้จะมีการแก้ไขมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่ทันสมัย ยังไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยังไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยังไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนได้เต็มที่นัก การส่งเสริมการลงทุนอาจยังไม่คล่องตัวเต็มที่นัก" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
สาระสำคัญแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรกเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวก ได้แก่ การทำหน้าที่ของที่ปรึกษาของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จากเดิมที่มีการขาดตอน แต่ของให้กรณีที่อยู่ในตำแหน่งครบวาระแล้วให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีผู้เข้ามาปฎิบัติหน้าที่แทน แต่ไม่เกิน 120 วัน, สำนักงานบีโอไอมีอำนาจมอบหมายให้บุคคลภายนอกไปดำเนินการแทนได้ในบางภารกิจ เช่น การตรวจสอบเครื่องจักร การตรวจสอบวัตถุดิบ เพื่อให้เพียงพอที่จะรองรับความต้องการของภาคเอกชนได้
ส่วนที่สองเกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยจะคำนึงถึงเรื่องการส่งเสริมการลงทุนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาไม่ให้ขัดต่อเงื่อนไขกติกาของ WTO
และส่วนที่สามเกี่ยวกับการสร้างแรงจูงใจ ได้แก่ สิทธิพิเศษในการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา, การเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษี, การขยายระยะเวลาการจ่ายเงินปันผล เช่น คณะกรรมการอาจอนุญาตให้ผู้ได้รับการส่งเสริมหักค่าใช้จ่ายไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนเงินที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้เสียไปในการประกอบกิจการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามเงื่อนไข วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
คณะกรรมการอาจอนุญาตให้ผู้ได้รับการส่งเสริมหักเงินที่ใช้ไปในการลงทุนในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกำไรรวมทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละ 90 ของเงินที่ลงทุนแล้วในกิจการนั้น
ขยายเวลาการจ่ายเงินปันผล เพื่อช่วยให้ผู้ได้รับเงินปันผลได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในกรณีผู้ได้รับการส่งเสริมไม่อาจจ่ายเงินปันผลได้ทันตามกำหนดระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยขยายเวลาการจ่ายเงินปันผลไปอีก 6 เดือน ภายหลังสิ้นสุดการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
"เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เราเคยให้การส่งเสริมการลงทุนมาแล้วระยะหนึ่งแต่ไม่สร้างแรงจูงใจ ไม่มีการลงทุน ถ้าวันนี้เราเพิ่มสิทธิประโยชน์แล้วเราต้องเสียอะไรไหม เราไม่เสียอะไร แต่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนมากขึ้น ถ้าเราทำแบบเดิมก็เป็นการส่งเสริมการลงทุนแบบบอกผ่านแล้วไม่เกิดผลในทางรูปธรรม" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว