คลังยันเสนอมาตรการกระตุ้นอสังหาฯเข้าครม.ปีนี้ หวังช่วยดันภาพรวมเศรษฐกิจโต

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 16, 2015 14:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษาการลดภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าธรรมเนียมการโอน และ ค่าธรรมเนียมการจดจำนองอย่างถาวร เพื่อหวังกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งยังต้องศึกษาข้อดีข้อเสียว่าหากลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ให้ฟื้นตัวได้จริงหรือไม่ เปรียบเทียบกับรัฐต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียม โดยจะมีข้อสรุปพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีภายในปีนี้อย่างแน่นอน

ขณะที่มาตรการกระต้นเศรษฐกิจในระดับของผู้มีรายได้น้อยที่ได้ออกมาก่อนหน้านี้นั้น ขณะนี้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรพร้อมแล้วในการปล่อยสินเชื่อผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชน วงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับมาตรการสินเชื่อเอสเอ็มอี และมาตรการอื่นๆ รวมวงเงิน 1.36 แสนล้านบาท เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้รักษาระดับการเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 3% ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจและการคลังจะมีการทบทวนประมาณการเศรษบกิจอีกครั้งในเดือน ธ.ค.58 เนื่องจากได้รับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าสำนักวิจัยเอกชนต่างๆจะปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโต 2.5-2.7% ก็ตาม

นางรังสรรค์ กล่าวปาฐถาพิเศษในงานมหกรรมวิเคราะห์การลงทุน ในหัวข้อ“แนวโน้มการลงทุนและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะยุโรปและเอเชีย"ว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยมาจากปัจจัยหลัก คือ การส่งออกที่หดตัวลงมากจากผลกระทบปัญหาเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงจากปัญหารายได้ของเกษตรกรที่น้อยลง เนื่องจากสินค้าเกษตรทุกชนิดมีราคาตกต่ำ รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง จะเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นระยะเวลา 7 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 83 จากปี 57 อยู่ที่ 92.7 อีกทั้งการลงทุนของภาครัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐานล่าช้า ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวเกิดการชะงักจากปัญหาหลายๆด้าน

อย่างไรก็ตาม มองว่าหากไทยไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนภาครัฐไม่ได้ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนก็ชะลอตัว รัฐบาลจะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างให้ทันภายในปีงบประมาณนี้ ซึ่งปัจจุบันก็มีการกำหนดให้สามารถคืนเงินงบประมาณที่ใช้จ่ายไม่ทันตามกำหนด หรือใช้จ่ายล่าช้ากลับมายังงบประมาณกลาง เพื่อที่จะมีการพิจารณาอนุมัติให้แก่หน่วยงานที่มีความต้องการเร่งด่วน และพร้อมดำเนินการแทนในทันที

"เชื่อว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่ง จากอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับ 1% เสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ยังติดลบ อีกทั้งยังมีเงินคงคลังคงเหลืออยู่ที่ 1 แสนล้านบาท"นายรังสรรค์ กล่าว

ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบันมีการปรับตัวดีขึ้น จะเห็นได้จากประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ และยุโรป โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจในสหัรฐฯถือว่ามีทิศทางการขยายตัวดีขึ้นและน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3/58 จากไตรมาส 2/58 เติบโตราว 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราการว่างงานก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จึงยังไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง

ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(FOMC)ในวันที่ 18 ก.ย.นี้ คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ แต่ถึงหากเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ เชื่อว่าฐานะทางการเงินของไทยยังมั่นคง โดยมีเงินคงคลัง ณ สิ้นก.ค. 58 ทั้งสิ้น 2.02 แสนล้านบาท และเงินทุนในระบบอีก 7-8 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถรองรับกระแสการไหลออกของเงินทุนต่างชาติได้ หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นจึงไม่น่ากังวล

ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซน ในไตรมาส 2/58 เติบโต 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในยูโรโซน เช่น เยอรมันนี, ฝรั่งเศล, สเปน และอิตาลี มีแนวโน้มทางเศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่อง และการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารในยุโรป ก็ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการมีความได้เปรียบมากขึ้น ขณะที่กรีซ สถานการณ์ต่างๆก็เริ่มคลี่คลายลง และเริ่มมีความคล่องตัวมากขึ้น คาดว่ากรีซจะมีการเลือกตั้งได้ในเร็วๆนี้ และน่าจะทำให้มีนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้น

สำหรับประเทศจีนที่เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย และเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งของโลกนั้น เศรษฐกิจในไตรมาส 2/58 ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องทั้งการค้าปลีก ภาคอุตสาหกรรม การลงทุนในสินทรัพย์คงทน และการส่งออก มองว่าก็มีความเป็นไปได้ที่จีนมีแนวโน้มที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจโดยรวมมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามคือ การอ่อนค่าของค่าเงินหยวนเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯปรับตัวลดลงประมาณ 4.7% ส่งผลกระทบทำให้ค่าเงินบาทต่อค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นประมาณ 2% ขณะที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศจีน 11% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม สินค้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าเม็ดพลาสติกส์ ยางพารา เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งสินค้าที่ส่งออกไปจีนอาจจะสูญเสียศักยภาพการแข่งขันในด้านราคา

พร้อมกันนี้ประเทศคู่ค้าที่สำคัญอีกประเทศหนึ่ง คือ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง ในไตรมาส 2/58 มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจราว 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในไตรมาส 3/58 คาดว่าจะมีแนวโน้มได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์จากต่างประเทศเป็นหลัก จากการปรับตัวอ่อนค่าของค่าเงินเยน การส่งออก การท่องเที่ยว คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น โดยประเด็นที่ควรจะติดตาม คือ ภาระหนี้สินของประเทศญี่ปุ่น ที่มีอยู่ราว 8.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมีหนี้ที่เทียบกับ GDP ราว 216%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ