ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา บีโอไอได้จัดทำข้อเสนอและหารือร่วมกับประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเห็นพ้องกับการกำหนดมาตรการเร่งรัดการลงทุนดังกล่าว
สำหรับโครงการที่ลงทุนจริงและเริ่มดำเนินการภายในสิ้นปี 2560 ตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กิจการที่ลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 2 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี หรือหากเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้น 8 ปีอยู่แล้ว ให้ได้รับลดหย่อนร้อยละ 50 อีก 5 ปี (ในปีที่ 9-13) 2. กลุ่มกิจการที่ตั้งนอกเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี
นางหิรัญญา กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่มูลค่าและฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เสริมสร้างศักยภาพด้านการลงทุนของประเทศไทย เพื่อดึงดูดการลงทุนที่มีคุณค่าทั้งจากนักลงทุนรายเดิมและรายใหม่ ตลอดจนกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
โดยที่ประชุมได้เห็นชอบในเรื่องการกำหนดประเภทคลัสเตอร์และกิจการเป้าหมาย การกำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับการส่งเสริมการลงทุนในคลัสเตอร์เป็นพิเศษเพื่อดึงดูดการลงทุน รวมถึงบทบาทหน้าที่ในการผลักดันนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบีโอไอจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์ต่อไป
ทั้งนี้ การพิจารณากำหนดคลัสเตอร์ต่างๆ อยู่บนพื้นฐานของปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. การกระจุกตัวในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเฉพาะอย่าง 2. มีการเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่การผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม (มีผู้ผลิตต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ อุตสาหกรรมสนับสนุน สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย สถาบันเฉพาะทาง หน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน และองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง) 3. มีการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจท้องถิ่น เช่น จ้างงานหรือใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เชื่อมโยงกับเอสเอ็มอีในท้องถิ่น เป็นต้น
นางหิรัญญา กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้กำหนดคลัสเตอร์เป้าหมายในระยะแรก รวม 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่ม Super Cluster ซึ่งเป็นคลัสเตอร์สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งประกอบไปด้วยคลัสเตอร์ 4 กลุ่ม คือ (1) คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน (2) คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม (3) คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (4) คลัสเตอร์ดิจิทัล ลำดับต่อมาคือคลัสเตอร์เป้าหมายอื่นๆ อีก 2 กลุ่ม ได้แก่ คลัสเตอร์เกษตรแปรรูป คลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม