SCB EIC คาดกนง.คงดอกเบี้ยถึงสิ้นปี เชื่อมาตรการภาครัฐช่วยกระตุ้นศก.ได้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 16, 2015 18:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% จนถึงสิ้นปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยกำลังได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นและสนับสนุนทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากช่วงต้นปี 2015 ที่อยู่ระดับ 33 บาท ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคการส่งออกให้เติบโตดีขึ้น และเป็นการเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นในทำนองเดียวกัน

ขณะที่ความผันผวนของตลาดการเงินโลกยังคงเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินไทยในระยะต่อไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่อาจกดดันให้ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า และเป็นข้อจำกัดต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม

โดยล่าสุด วันนี้ที่ประชุม กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% โดย กนง. ประเมินว่าการใช้จ่ายของภาคเอกชนยังเผชิญปัจจัยลบ แต่เศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่งจากการท่องเที่ยวและภาครัฐ โดยการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ชะลอตัวนั้นมีสาเหตุหลักมาจากการส่งออกที่หดตัวและรายได้ครัวเรือนที่ยังไม่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตสูงและการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย

ขณะเดียวกัน กนง. ยังไม่แสดงความกังวลเกี่ยวกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่การประชุม กนง.ในวันที่ 5 ส.ค. ที่เงินบาทได้อ่อนค่าลงไปกว่า 2% จาก 35.10 เป็น 36.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน และหากเทียบกับต้นปี 2015 ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปแล้วกว่า 9% ซึ่ง กนง.ยังมองว่าค่าเงินบาทที่ระดับ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบันเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และอาจแปลความได้ว่า กนง.ยังมีความมั่นใจในเสถียรภาพการเงินของประเทศ แม้ประเมินว่าปัจจัยลบจากความผันผวนของตลาดการเงินโลกจะมีสูงขึ้น

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้องกังวลเช่นกัน แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบไปจนถึงสิ้นปี 2015 เนื่องจากราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาน้ำมันและอาหารสดยังเป็นบวก หมายความว่าราคาสินค้าอื่น ๆ ยังมีแนวโน้มทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นจึงไม่ใช่ภาวะเงินฝืด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ