ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษามาตรการในการกระตุ้นภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมองว่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคต โดยจะเน้นให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีปัญหาในระยะยาว โดยต้องลงไปพิจารณาในรายละเอียดว่าจะดำเนินการในการให้ความช่วยเหลือในด้านใดบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือร่วมกันกับเอกชนในรายอุตสาหกรรมบ้างแล้ว หลังจากนี้จะเร่งพิจารณาในรายละเอียดเกี่ยวกับความช่วยเหลือต่อไป
“แนวคิดในการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนนี้จะเน้นส่งเสริมให้อุตสาหกรรมมีความเข้มแข็งขึ้น ผ่านการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหา โดยจะพยายามแก้ไขในลักษณะการป้องกันเป็นหลัก ซึ่งมองว่าดีกว่าการรอให้เกิดปัญหาแล้วจึงมาหาทางแก้ไข"รมว.คลัง กล่าว
นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังบริหารหนี้จากโครงการรัฐ วงเงิน 7.3 แสนล้านบาท ตามที่นายสมหมาย ภาษี อดีต รมว.คลังได้เคยเสนอไว้ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องเสนอกฎหมายดังกล่าวเพื่อมาล้างหนี้ เพราะยังไม่มีสัญญาณว่าหนี้จะกระจุกตัว และการก่อหนี้ก็ไม่ได้เกินเพดานที่กำหนดไว้ รวมถึงกระแสเงินสดที่มีอยู่ในขณะนี้ยังอยู่ในกรอบที่สามารถบริหารจัดการหนี้ดังกล่าวได้
"ได้หารือเกี่ยวกับฐานะการคลังและกระแสเงินสด พบว่าไม่มีปัญหาภาระหนี้กระจุกตัวในเวลาใดเวลาหนึ่งจนมีปัญหาสภาพคล่อง จึงยังไม่จำเป็นต้องเร่งออก พ.ร.บ.กู้เงินพิเศษเพื่อชำระหนี้จากโครงการรัฐดังกล่าว เพราะหากออกพันธบัตรมาเพื่อมาใช้หนี้เดิม มันก็ยังเป็นหนี้ก้อนเดิมไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง" รมว.คลัง กล่าว
สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับการประเมินความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวนั้น ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้