โดยระยะแรกออกประกาศรับซื้อสำหรับพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านระบบสายส่งไฟฟ้าก่อน โดยมีเป้าหมายรับซื้อจำนวน 600 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิขย์(SCOD) ไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.59 ซึ่งให้ผู้ที่สนใจยื่นแบบคำขอและเอกสารที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่ 1-10 พ.ย.58 และจะรู้ผลภายในเดือนธ.ค.58 ส่วนระยะที่สอง กกพ.จะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ที่เหลือต่อไป โดยจะมีกำหนดวัน SCOD ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.61
นายวีระพล กล่าวว่า สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการดังกล่าวนั้น แต่ละโครงการต้องมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ มีอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี และจะได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT ที่ 5.66 บาท/หน่วย ทั้งนี้ หากไม่มีการเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าภายในกำหนดวัน SCOD ให้ถือว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นอันสิ้นสุด ยกเว้นกรณีเป็นเหตุสุดวิสัยตามที่กำหนดในสัญญา
สำหรับเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าในระยะที่ 1 จำนวน 600 เมกะวัตต์ กกพ.ได้แบ่งเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าใน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จำนวน 200 เมกะวัตต์ ,พื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) จำนวน 389 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ภาคเหนือ 5 เมกะวัตต์ ,ภาคตะวันออก 87 เมกะวัตต์ ,ภาคตะวันตก 159 เมกะวัตต์ และภาคกลาง 138 เมกะวัตต์ และพื้นที่ของกิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ จำนวน 11 เมกะวัตต์
โดยขั้นตอนการคัดเลือกนั้น กกพ.จะพิจารณาความครบถ้วนของเอกสาร ศักยภาพระบบไฟฟ้าในเขตพื้นที่ที่ตั้งโครงการ ความพร้อมของเงินทุน และความพร้อมของวงเงินสินเชื่อก่อน และเมื่อได้ผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว กกพ.จะใช้วิธีจับสลากเพื่อคัดเลือกว่ากลุ่มใดจะได้จับสลากก่อน โดยกลุ่มที่ได้จับสลากก่อนจะได้รับการคัดเลือกก่อน และจะพิจารณาตามเงื่อนไขศักยภาพของ Feeder (สายป้อน) ต่อไป
สำหรับการรับแบบคำขอขายไฟฟ้า ผู้ที่สนใจสามารถขอรับแบบคำขอได้ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.58 เป็นต้นไป ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานกกพ.หรือขอรับได้ด้วยตัวเองที่สำนักงานกกพ. ส่วนกลางหรือประจำเขตทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ โดยมีกำหนดยื่นแบบคำขอและเอกสารที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่ 1-10 พ.ย.58 และภายในวันที่ 11 ธ.ค.58 กกพ.จะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ ณ สำนักงานกกพ. และผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานกกพ. และในส่วนของการจับสลากกกพ.ได้กำหนดเป็นวันที่ 15 ธ.ค.58 ระหว่างเวลา 9.00-15.00 น. หลังจากนั้นจะประกาศรายชื่อโครงการที่ผ่านการพิจารณาในวันที่ 24 ธ.ค.58
"โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะนำเอาพื้นที่ของหน่วยงานราชการและที่ดินของสหกรณ์ภาคการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเห็นว่าไทยมีศักยภาพเพียงพอในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน"นายวีระพล กล่าว
นายวีระพล กล่าวอีกว่า เมื่อโครงการที่ผ่านการพิจารณาและได้มีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายแล้ว ห้ามมิให้มีการโอนสิทธิและหน้าที่ในคำขอขายไฟฟ้าหรือในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับผู้อื่น นอกจากได้รับความยินยอมจากการไฟฟ้าที่ได้รับความเห็นชอบจากกกพ.แล้วเท่านั้น