(เพิ่มเติม) แบงก์ออมสิน-18 สถาบันการเงิน ร่วมจัดซอฟท์โลนวงเงิน 1 แสนลบ.หนุน SMEs

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 18, 2015 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินยังคงเดินหน้าตามนโยบายรัฐบาลอย่างต่อเนื่องภายใต้ภารกิจในการขับเคลื่อน “มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในระยะเร่งด่วน" ผ่าน “โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs" วงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว และเพื่อช่วยสร้างขีดความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านกลไกของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ ที่จะมาร่วมกันผนึกกำลังเป็นแหล่งทุนสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี

สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันระหว่าง ธนาคารออมสิน ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งสืบเนื่องมาจากมาตรการของรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนี้ คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินหมุนเวียนเพื่อดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง จำนวน 60,000 ราย (วงเงินสินเชื่อเฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 3.3 ล้านบาท) และสามารถรักษาสภาพการจ้างงานได้ประมาณ 240,000 ราย (เฉลี่ย 4 คนต่อ 1 รายธุรกิจ) และส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะสามารถสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 1.94 ล้านล้านบาท และจากเครือข่ายสาขาของสถาบันการเงินทุกแห่งเข้าร่วมโครงการ จะช่วยให้เม็ดเงินจากโครงการนี้เข้าถึงลูกค้าและระบบเศรษฐกิจได้รวดเร็วขึ้น และช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความเข้มแข็งและเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำฯ วงเงิน 100,000 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี โดยจะเป็นการปล่อยกู้ให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์ ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี เพื่อนำปล่อยกู้โดยตรงให้กับผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 4% ต่อปี ซึ่งรัฐบาลจะชดเชยค่าใช้จ่ายส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารออมสินต่อไป

"วงเงิน 100,000 ล้านบาทนั้นจะสามารถปล่อยกู้ได้ประมาณเดือนละ 30,000 ล้านบาท ผ่านสถาบันการเงินรวมทั้งสิ้น 19 ธนาคารโดยจะต้องยื่นคำขอกู้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 และเบิกจ่ายทั้งสิ้นภายใน 31 มีนาคม 2559"

นายชาติชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการปล่อยกู้เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในครั้งนี้ มั่นใจว่าธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะมีความมั่นใจในการปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากยังมีการรับประกันผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. เป็นผู้ค้ำประกันให้กับเอสเอ็มอี

นอกจากนี้ ในส่วนของธนาคารออมสิน ยังมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยใช้วงเงินจากโครงการนี้ด้วย ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือชาวประมง “ประมงไทยก้าวไกลสู่สากล" โครงการสินเชื่อ SMEs เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการประหยัดพลังงาน โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อผู้รับเหมางานภาครัฐ และโครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งมีวงเงินอีกกว่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งพร้อมจะให้สินเชื่อโดยตรงแก่ผู้ประกอบการทั่วไป และลูกค้าของธนาคารออมสิน

นายชาติชาย คาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย กองทุนหมู่บ้าน ช่วยเหลือเอสเอ็มอี และมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาทนั้น จะช่วยกระตุ้นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP)ปีนี้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ หรือมากกว่าเป้าหมายที่ระดับ 3% ถ้าในช่วงไตรมาสสุดท้ายการส่งออกและการบริโภคในประเทศดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ