นายอุตตม สาวนายน รมว.ไอซีที เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำศูนย์ข้อมูลภาครัฐเพื่อให้บริการประชาชนและการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อการบริหารภาครัฐ ว่า สืบเนื่องจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงไอซีทีจัดทำข้อมูลกลางให้บริการประชาชน โดยในระยะแรกให้ดำเนินการจัดทำช่องทางสื่อสารกับประชาชนในเรื่องภัยแล้งผ่านแอปพลิเคชันที่สามารถแสดงถึงข้อมูลสำคัญ อาทิ สถานการณ์น้ำ สถานการณ์ปริมาณน้ำฝน ผลกระทบภัยแล้ง และพื้นที่ปลูกข้าว เป็นต้น รวมทั้งข้อมูลเพิ่มเติมจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งได้ทำการศึกษาประเด็นพืชทดแทน/อาชีพทดแทนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ภัยแล้งปีถัดไป โดยจะเป็นการบูรณาการข้อมูลจากทุกหน่วยงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานศูนย์กลางข้อมูลและบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐสำหรับประชาชน (Government Application Center : GAC) ดังนี้ 1.ศูนย์รวมบริการภาครัฐในรูปแบบเว็บไซต์ (Government e-Service Website Portal) ประกอบด้วย เว็บไซต์กลางบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (Thailand e-Government Portal : www.egov.go.th) ซึ่งเป็นศูนย์รวมเว็บไซต์ข้อมูลและบริการต่างๆ ของภาครัฐ
ปัจจุบันมีบริการหรือเว็บไซต์ของภาครัฐที่เผยแพร่หรือให้บริการผ่าน www.egov.go.th จำนวนทั้งสิ้น 2,547 เว็บไซต์ รวม 454 หน่วยงาน ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (www.data.go.th) เป็นศูนย์รวมข้อมูลสาธารณะและข้อมูลภาครัฐในรูปแบบมาตรฐานเปิด ปัจจุบันมีชุดข้อมูลที่เปิดเผย จำนวน 251 ชุดข้อมูล จาก 31 หน่วยงาน และศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ (www.info.go.th) ปัจจุบันได้จัดให้มีคู่มือบริการประชาชน ตาม พ.ร.บ. อำนวยความสะดวก ที่เผยแพร่แล้ว จำนวน 10,049 คู่มือ และอยู่ในระหว่างดำเนินการ จำนวน 635,439 คู่มือ
2.ศูนย์รวมบริการภาครัฐในรูปแบบโมบายแอปพลิเคชัน (apps.go.th) หรือแอปพลิเคชัน GAC ซึ่งเป็นช่องทางสำหรับประชาชนที่มีอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ ปัจจุบันมีบริการภาครัฐในรูปแบบโมบายแอปพลิเคชันให้บริการผ่าน www.apps.go.th จำนวน 108 บริการ จาก 68 หน่วยงาน และ 3.ช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและบริการของรัฐผ่านตู้บริการอเนกประสงค์ของรัฐ ได้แก่ Government Kiosk ติดตั้งแล้ว 2 แห่ง ณ ศูนย์ G-Point สาขาศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และศูนย์การค้าเซ็นทรัลศาลายา โดยมีระบบที่ให้บริการ 8 ระบบ จาก 4 หน่วยงาน และ Government Smart Box ซึ่งได้ทำการติดตั้งแล้ว จำนวน 27 เครื่อง ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ตำบล
นอกจากนี้กระทรวงฯ จะเร่งรัดการจัดทำโครงการซูเปอร์คลัสเตอร์ (Super Cluster) ซึ่งเป็นศูนย์รวมที่มีระบบ WiFi และโครงข่ายใยแก้วนำแสงไฟเบอร์ออปติก (Fiber Optic) ใน 2 พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดภูเก็ต ซึ่งในส่วนของภูเก็ตนั้น ทาง บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) และ บมจ. ทีโอที (TOT) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงฯ มีความพร้อมในการดำเนินงาน 100% ส่วนที่เชียงใหม่นั้นอาจจะต้องใช้งบสนับสนุนบางส่วนจากรัฐบาล โดยยึดหลักความทั่วถึง เป็นธรรม และเท่าเทียม
“รัฐบาลมีนโยบายที่จะยกระดับการให้บริการประชาชนผ่านบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐให้เกิดการบูรณาการ การเชื่อมโยงที่สมบูรณ์ครอบคลุมการให้บริการแก่ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานของรัฐอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ซึ่งกระทรวงฯ โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA จะเร่งดำเนินการให้ครบถ้วนทันการเปิดตัวต่อประชาชนในช่วงปลายปี 2558 เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งยังจะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยป้องกันและลดปัญหาการทุจริตภายในหน่วยงานภาครัฐได้อีกด้วย" นายอุตตมฯ กล่าว