เหตุที่ต้องออกเป็น พ.ร.ก.เนื่องจากต้องการให้เกิดความรวดเร็วในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่ว่าจะออกเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ.ก็เป็นกฎหมายที่มีศักดิ์และสิทธิเท่าเทียมกัน ประเด็นสำคัญคือขอให้ยึดจุดมุ่งหมายเป็นที่ตั้ง ดังนั้น จึงเห็นว่าการจะแก้ไขปัญหาด้านการบินให้สำเร็จลุล่วงภายในเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดจึงจำเป็นต้องออกมาในรูปของ พ.ร.ก.
"เหตุที่เสนอเป็น พ.ร.ก.เพราะเรื่อง ICAO เราช้าไม่ได้แม้แต่เดือนเดียว ถ้าทำเป็นร่าง พ.ร.บ.ต้องนับเวลาว่าต้องเข้าสนช.อย่างน้อย 3 เดือน หรือมากกว่านี้ อาจมีการปรับแก้ไข...ข้อกฎหมายในร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวนี้ คณะทำงานที่ได้ประสานกับ ICAO ได้ทำรายละเอียดแนะนำไว้ครบถ้วน เราจึงไม่มั่นใจว่าถ้าเราผลักดันกฎหมายที่ ICAO เขาช่วยเรา และเมื่อเอาเข้า สนช.แล้ว จะมีการปรับแก้อีกหรือไม่ เพราะถ้าแก้อีก ICAO คงไม่ยอม เพราะเขา stick มากเรื่องนี้" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า สิ่งที่ได้จากการปรับโครงสร้างใหม่ในครั้งนี้ คือ จะทำให้มีหน่วยงานเกิดขึ้นใหม่คือ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และกรมท่าอากาศยาน ซึ่งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายยังคงเป็นกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล คือ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ขณะที่หน่วยงานที่เป็นฝ่ายปฏิบัติ คือ กรมท่าอากาศยาน ซึ่งแปลงสภาพมาจากกรมการบินพลเรือน
"กรมท่าอากาศยานจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ แปลงสภาพมาจากกรมการบินพลเรือนเดิม ส่วนสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จะเป็นหน่วยงานตั้งใหม่ ซึ่งไม่เป็นทั้งส่วนราชการ และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่ในการกำกับดูแล"พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
พร้อมระบุว่า ที่ประชุม ครม.ยังมีการหารือในประเด็นเรื่องการสอบสวนอุบัติเหตุและการตรวจสอบค้นหาอากาศยานว่าหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ควรจะอยู่ในสังกัดใด ระหว่างกระทรวงคมนาคม, กระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงยุติธรรมจึงจะเหมาะสม โดยวันนี้ยังไม่มีข้อยุติและจะมีการหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับว่าจะต้องเร่งรัดดำเนินการเรื่องนี้ให้ครบวงจร