โดยภายในงานจะมีการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำธุรกิจจากนักลงทุนไทยที่ได้เข้าไปลงทุนในประเทศตลาดใหม่ เพื่อนำเสนอโอกาส รวมทั้งข้อมูลเชิงลึกของการลงทุนแยกเป็นรายอุตสาหกรรมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้ประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญยังพบว่ากลุ่มประเทศตลาดใหม่ทั้ง 4 ประเทศนั้น มีศักยภาพในการเป็นตลาดรองรับสินค้าและบริการ รวมไปถึงการลงทุนจากประเทศไทยในอนาคต เพราะอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบ และแรงงาน และยังป็นกลุ่มประเทศที่ตลาดกำลังขยายตัวและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง
"สิ่งสำคัญในการสนับสนุนภาคเอกชนให้ออกไปแสวงหาโอกาสการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศนั้น บีโอไอให้ความสำคัญกับประเทศที่มีศักยภาพรองรับการลงทุนเป็นหลัก ซึ่งทั้ง 4 ประเทศดังกล่าว มีความพร้อมในรองรับการลงทุนที่แตกต่างกัน ดังนั้นการนำเสนอผลการศึกษาโอกาสการลงทุนในครั้งนี้ จะช่วยให้นักลงทุนไทยมีข้อมูลอ้างอิงเพื่อพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการเข้าไปลงทุนได้อย่างดี" น.ส.ชลลดากล่าว
สำหรับประเทศไนจีเรีย เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการประกอบธุรกิจการเกษตร โดยมีผลิตผลทางการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง ข้าว อ้อย เป็นต้น รวมไปถึงการทำเหมืองแร่ ขณะที่อุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยจะมีโอกาสและความเป็นไปได้ในการเข้าไปลงทุนมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป โดยพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเข้าไปลงทุนเพาะปลูกหรือการจัดตั้งโรงงานเกษตรและอาหารแปรรูปในไนจีเรีย ได้แก่ บริเวณทางตอนใต้และตอนกลางของประเทศ
ส่วนสาธารณรัฐคีร์กีซ จากการศึกษาพบว่า อุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยจะมีโอกาสและความเป็นไปได้ในการเข้าไปลงทุนมากที่สุด คือ ธุรกิจท่องเที่ยวและการโรงแรม รวมไปถึงในส่วนของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรมที่อาศัยความได้เปรียบจากการที่สาธารณรัฐคีร์กีซมีภูมิประเทศที่หลากหลาย และมีทัศนียภาพสวยงาม ส่งผลให้สามารถดำเนินการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ
สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ พบว่าอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสในการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรมเพาะปลูก อุตสาหกรรมการแปรรูปพืชผลทางการเกษตร รวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานในการผลิต อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม นอกจากนี้ ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและภาคบริการบางส่วนที่เกี่ยวข้องของบังกลาเทศเริ่มมีการขยายตัวและมีศักยภาพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายภาครัฐ ประกอบกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศที่มีความสวยงาม ยังไม่ถูกทำลาย และเหมาะแก่การท่องเที่ยว
สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน พบว่า ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในอุตสาหกรรมเพาะปลูก อุตสาหกรรมการแปรรูปพืชผลทางการเกษตร อุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก โดยพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การเข้าไปลงทุน ได้แก่เมืองการาจี และเมืองละฮอร์ ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่มาก