ทั้ง 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี มูลค่า 56,725 ล้านบาท 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง มูลค่า 54,768 ล้านบาท 3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย มูลค่า 82,494 ล้านบาท 4.โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย ของ อบจ.นนทบุรี มูลค่า 4,142 ล้านบาท และ 5.โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย ของเทศบาลนครราชสีมา มูลค่า 2,250 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ก.ย.58 เกี่ยวกับหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดเพิ่มเติมมูลค่าโครงการลงทุนที่จะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ที่เห็นชอบให้ขยายวงเงินมูลค่าโครงการที่ให้เอกชนร่วมลงทุนจากเดิม 1,000 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการร่วมลงทุนมากขึ้น
ในส่วนของโครงการลงทุนที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทให้กระทรวงต้นสังกัดมีอำนาจในการพิจารณากรอบและหลักเกณฑ์การดำเนินการได้ และโครงการที่มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาทไม่แต่เกิน 5,000 ล้านบาทให้คณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน พิจารณาถึงความเหมาะสมและความสำคัญว่าเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลหรือไม่ หากสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลก็ให้ดำเนินการตามกรอบโครงการลงทุน PPP ได้ ส่วนโครงการลงทุนตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้ดำเนินการตามกรอบ PPP ทันที
"การลงทุนในลักษณะ PPP จะช่วยให้ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งต่อการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในอนาคต และมองว่าการดำเนินการลักษณะนี้จะช่วยให้รัฐบาลสามารถคุมสัดส่วนหนี้สาธารณะไม่ให้เพิ่มสูงไปกว่าระดับที่เหมาะสม หรือเป็นไปตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่หนี้สาธารณะควรอยู่ในระดับ 50-60% ซึ่งในส่วนนี้จึงได้มีการมอบหมายให้กระทรวงการคลังไปเร่งพิจารณาดูแลเรื่องเงินลงทุนในโครงการลงทุนต่างๆ ทั้งหมด คาดว่าจะมีการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) เพื่อระดมทุนมาใช้ลงทุนในส่วนที่รัฐต้องรับผิดชอบ ซึ่งจะช่วยบริหารความเสี่ยงเรื่องการก่อหนี้ไปในตัว"นายสมคิด กล่าว
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังพยายามกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อให้โครงการต่างๆสร้างเดินหน้าได้เร็วยิ่งขึ้น ที่ประชุมได้สรุปรายชื่อโครงการขนาดใหญ่ๆที่จะสามารถเริ่มได้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งแต่ละโครงการก็มีจุดประสงค์ที่ต้องการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนกับภาครัฐมากขึ้น โดยภาครัฐจะเปลี่ยนไปทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณในการลงทุนโครงการต่างๆ มากขึ้นด้วย
ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์การลงทุน PPP รัฐตั้งเป้าหมายที่จะดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันตั้งเป้าหมายไว้ที่ 17% ของวงเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด โดยการดำเนินการในส่วนนี้จะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม