แบงก์รัฐผนึกกำลังออกมาตรการช่วยเกษตรกร บรรเทาปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 24, 2015 16:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมเพื่อแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้ง โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้สั่งการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(SME Bank) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งหารือ เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการภัยพิบัติภาคเกษตรกร ซึ่งคาดว่าจะมีการหารืออีกครั้งใน 1-2 วันนี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปภายใน 1 สัปดาห์ และจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบโดยเร็วที่สุด

สำหรับมาตรการที่จะออกมานั้น จะเป็นรูปแบบการบูรณาการที่มีทั้งมาตรการยืดเวลาชำระหนี้ พักหนี้ สนับสนุนวงเงินช่วยเหลือ เป็นต้น โดยจะมีทั้งการให้ความช่วยเหลือ การปรับโครงสร้างภาคเกษตรของประเทศ ซึ่งในหลักการจะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่เดือดร้อนจากปัญหาภัยธรรมชาติ

"มาตรการที่ออกมา จะเป็นมาตรการที่บูรณาการ โดยอาจจะมีการแจกเงินให้เกษตรกรในพื้นที่ที่มองแล้วว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้เลย ซึ่งวงเงินที่ใช้จะต้องมีการหารือให้จบ ยืนยันว่ามาตรการครั้งนี้เป็นมาตรการผสมผสานจริงๆ ซึ่งจะมีความแตกต่างจากมาตรการที่เคยดำเนินการไปแล้ว โดยมาตรการครั้งนี้เป็นการทำงานล่วงหน้า เรามองปัญหาล่วงหน้า เพื่อหาแนวทางป้องกัน เป็นแนวคิดในการทำงาน ไม่ใช่เห็นปัญหาแล้วค่อยมาแก้ทีหลัง" รมว.คลัง กล่าว

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่าปัญหาภัยแล้งในปี 59 จะเกิดขึ้นในเดือนม.ค. โดยจะแบ่งเป็น 2 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ คือ 1.พื้นที่วิกฤติลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่กลอง 26 จังหวัด 2.พื้นที่ประสบภัยพิบัติทั่วไป โดยแนวทางในการให้ความช่วยเหลือจะเน้นไปที่พื้นที่วิกฤติเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นการร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหา

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะนำข้อมูลที่เตรียมไว้เกี่ยวกับการจัดโซนนิ่งภาคเกษตรมาใช้ในการประกอบการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในครั้งนี้ โดยยอมรับว่าอาจจะมีบางพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกไม่ได้ ซึ่งต้องหาแนวทางในการให้ความข่วยเหลือต่อไป

ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ในเบื้องต้น ธ.ก.ส.จะส่งพนักงานไปพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อเร่งหาแนวทางในการช่วยเหลือ ส่วนพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกไม่ได้ อาจจะมีการแนะนำหรือเชิญชวนเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูก เช่น ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยลง

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารพร้อมให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนทางการเงินทุกรูปแบบ เช่น ยืดระยะเวลาชำระหนี้ และมีการวางแผนอย่างบูรณาการ เป็นต้น

ขณะที่นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ SME Bank กล่าวว่า ภัยแล้งในครั้งนี้ประเมินว่าจะส่งผลให้รายได้ภาคเกษตรลดน้อยลง ดังนั้นจะต้องมีการเสริมรายได้ในช่องทางอื่นผ่านวิสาหกิจชุมชน และสินค้าผลิตภัณฑ์ในตำบล รวมถึงได้มีการประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ในการหาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ