รมช.พาณิชย์ แนะไทยสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า สร้างการตอบรับขยายวงสู่อาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 24, 2015 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ กล่าวในการสัมมนา"โลกเปลี่ยน ไทยปรับอย่างไร สู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน"ว่า ยุทธศาสตร์การค้าของประเทศไทยนั้นควรมองประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน(AEC)เป็นผืนแผ่นเดียวกัน เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างผลประโยชน์ให้แก่ประเทศ เนื่องจากมูลค่าของตลาดของ AEC มีขนาดใหญ่มาก โดยสิ่งแรกที่จะต้องเริ่มในยุทธศาสตร์การค้านั้นควรเริ่มจากการเจาะเข้าไปในประเทศกลุ่ม CLMV ซึ่งมีศักภาพในการเติบโตในอนาคต และมีการทำการค้าขายกับประเทศไทยมาโดยตลอดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากการทำการค้ากับกลุ่ม CLMV ประสบความสำเร็จนั้นจะช่วยสร้างมูลค่าและนำรายได้เข้าสู่ประเทศได้อย่างมาก

ระดับต่อไปของยุทธศาสตร์การค้าของไทยต่อจากกลุ่ม CLMV คือ การขยายเข้าไปสู่ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลลิปปินส์และบรูไน ซึ่งหากรวมกับกลุ่ม CLMV แล้วมูลค่าตลาดรวมจะเท่ากับกลุ่ม NAFTA ที่มีมูลค่าตลาดที่ใหญ่กลุ่มหนึ่งของโลก และหากรวมประเทศสิงคโปร์เข้าไปด้วยนั้น มูลค่าตลาดจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของสหภาพยุโรป(EU)

อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยจะสามารถเจาะเข้าไปในตลาด AEC ได้ทั้งหมดนั้น จะต้องมีการสร้างความแข็งแกร่งและคุณภาพของสินค้าให้ดียิ่งขึ้นและเป็นที่ต้องการของประเทศเหล่านั้น หากมีการทำการค้าเกิดขึ้นจริงและได้รับการตอบรับที่ดีจะทำให้การค้าของไทยมีการเติบโตอีกมหาศาล และเปลี่ยนภาพการแข่งขันของประเทศไทยจาก Comparative Adventage เป็น Competitive Adventage

ขณะที่เป้าหมายสูงสุดของยุทธศาสตร์การค้าของประเทศไทย คือ การรวม AEC ทั้งหมด ผนวกเข้ากับประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเอเชียใต้ ได่แก่ อินเดีย ซึ่งจะช่วยสริมสร้างความแข่งแกร่งให้กับความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศและสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศได้อย่างมหาศาล

นายสุวิทย์ กล่าวว่า แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจของโลกยังมีความผันผวน และประเทศไทยสัดส่วนรายได้จากการส่งออกมากที่สุดหรือคิดเป็น 70% ของ GDP ทำให้การปรับตัวของประเทศไทยในช่วงนี้จะต้องมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ อีกทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จะต้องมีการบูรณาการการค้าในทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ