(เพิ่มเติม) ธปท.ลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือ 2.7%, ปี 59 ที่ 3.7% ตามส่งออก-ศก.ฟื้นช้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 25, 2015 16:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุปรับลดเป้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยทั้งปี 58 และปี 59 มาที่ 2.7% และ 3.7% ตามลำดับ จากก่อนหน้าที่คาดจะขยายตัว 3.0% และ 4.1% ตามแนวโน้มการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาคเอกชนที่อ่อนแอลงเป็นสำคัญ โดยการส่งออกปีนี้ คาดว่าจะติดลบ 5% จากเดิมคาดติดลบ 1.5% เนื่องจากการส่งออกสินค้าลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะจีนและเอเชีย ก่อนจะกลับมาขยายตัวเป็นบวก 1.2% ในปี 59 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนอ่อนแอลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ล่าช้า

อย่างไรก็ดี มองว่าการใช้จ่ายภาครัฐยังมีส่วนในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ ทั้งการใช้จ่ายในโครงการลงทุนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเพิ่มเติม ขณะที่การท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง แม้ในระยะสั้นจะได้รับผลกระทบจากกรณีเหตุระเบิดที่ราชประสงค์

ส่วนอัตราเงินเฟ้อปี 58 คาด ติดลบ 0.9% จากเดิมคาดติดลบ 0.5% เป็นผลจากด้านต้นทุน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดียังมองว่ายังมีความเสี่ยงต่ำที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ตามการส่งออกและการใช้จ่ายภาคเอกชนที่อ่อนแอลงกว่าคาด ขณะที่เศรษฐกิจโลกเองมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นและตลาดโลกมีความผันผวนมากขึ้นส่วนหนึ่งจากความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและประสิทธิผลของมาตรการดูแลตลาดการเงินและกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน ซึ่งความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นมีส่วนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ยังไม่ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งล่าสุด

ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศอื่นในเอเชียและประเทศคู่ค้าที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มขยายตัวต่ำลง และทำให้ความต้องการซื้อสินค้าส่งออกไทยลดลง เมื่อรวมกับราคาสินค้าส่งออกบางประเภทที่มีแนวโน้มต่ำลงตามราคาน้ำมันและการต่อรองราคาของคู่ค้า จึงทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยมีแนวโน้มหดตัวมากขึ้น โดยธปท.ได้ปรับลดคาดการณ์มูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้หดตัวเพิ่มขึ้นเป็น ติดลบ 5% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะหดตัวที่ ติดลบ 1.5%

ส่วนมูลค่าการนำเข้าในปีนี้คาดว่าจะหดตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันมาอยู่ที่ ติดลบ 9.3% จากเดิมที่คาดว่าจะ ติดลบ 2.4% ส่งผลให้ปีนี้คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 25.5 พันล้านดอลลาร์

จากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ต่ำลงประกอบกับกำลังการผลิตส่วนเกินส่วนเกินที่ยังมีอยู่มาก จึงทำให้ภาคธุรกิจเลื่อนการลงทุนออกไป ส่วนการส่งออกบริการมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ ตามรายรับจากภาคการท่องเที่ยว แม้ในระยะสั้นจะได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์อยู่บ้าง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 29.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยประมาณการณ์ไว้ที่ 28.8 ล้านคน

อย่างไรก็ดี มองว่าภาครัฐมีส่วนในการช่วยพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและทำได้ดีกว่าที่คาด โดยเฉพาะจากการใช้จ่ายในโครงการลงทุน รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเพิ่มเติม แต่ทั้งนี้อาจจะยังไม่สามารถชดเชยแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่อ่อนแรงลงได้ทั้งหมด

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป(CPI) ในปีนี้ ธปท.ได้ปรับลดลงอยู่ที่ ติดลบ 0.9% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ ติดลบ 0.5% โดยอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ที่ติดลบเป็นผลจากด้านต้นทุนน้ำมันเป็นสำคัญ ซึ่งทั้งปีนี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 52.80 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลงจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 61.70 ดอลลาร์/บาร์เรล

นายเมธี กล่าวต่อว่า แม้อัตราเงินเฟ้อจะต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม แต่ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อ และความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดยังต่ำ

ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ยังติดตามคือ 1.ความชัดเจนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและเอเชีย 2.ความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของเฟดในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3.ความต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนและผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อการใช้จ่ายภาคเอกชน

4.ความไม่สมดุลทางการเงินที่อาจก่อตัวภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน และ 5.ประสิทธิภาพการส่งผ่านของนโยบายการเงินไปยังเศรษฐกิจจริง

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนยังมีความจำเป็น เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านลบอยู่ต่อไป

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 3 เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งประกอบด้วย การปล่อยกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้าน, การเร่งรัดการใช้จ่ายสู่ระดับตำบล และการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการลงทุนขนาดเล็กนั้น คาดว่าอาจจะยังไม่ส่งผลต่อ GDP ในปีนี้มากนัก แต่เชื่อว่าจะมีผลต่อ GDP ในปีหน้ามากกว่า ซึ่งโดยรวมน่าจะส่งผลให้ GDP ปรับเพิ่มขึ้นได้ 0.1%

“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐออกมานั้น เรากำลังประเมินผล ซึ่งได้ใส่รวมไปในการประเมินเศรษฐกิจปีนี้แล้วยกเว้นเรื่องมาตรการช่วยเหลือ SME ในเรื่องสินเชื่อ...มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้คงมีผลต่อ GDP บ้างแต่ส่วนมากเชื่อว่าจะอยู่ในปีหน้า ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าการใช้จ่ายภาคเอกชนจะมีผลต่อเนื่องมากแค่ไหน"นายเมธี กล่าว

สำหรับในปี 2559 ธปท.ประเมินว่า GDP จะขยายตัวได้ 3.7% ซึ่งปรับลดลงจากเดิมที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือนมิ.ย.ว่าจะขยายตัวได้ 4.1% การส่งออก ขยายตัวได้ 1.2% ลดลงจากเดิมที่เคยประเมินไว้ที่ 2.5% การนำเข้า ขยายตัวได้ 5.3% ลดลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 7.6% ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 59 คาดว่าจะเกินดุล 15.1 พันล้านดอลลาร์

ธปท. มองว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ แต่ยังมีความเสี่ยงในด้านลบอยู่พอสมควร ส่วนจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจนได้ในช่วงใดนั้นคงยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ ส่วนกรณีที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไรนั้น นายเมธี กล่าวว่า ตลาดซึมซับข่าวนี้ไปพอสมควรแล้ว ดังนั้นจึงเชื่อว่าหากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในสิ้นปีนี้จริงก็จะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อเศรษฐกิจและตลาดเงินของไทย เพียงแต่คงต้องติดตามว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงใด ซึ่งในปีนี้ยังเหลือการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน(FOMC) อีก 2 ครั้ง คือในเดือนต.ค. และ ธ.ค.58 พร้อมกันนี้มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่จำเป็นต้องปรับไปตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ

“ผลต่อเศรษฐกิจและตลาดเงินของไทยคงมีบ้าง แต่ไม่น่าจะรุนแรงคงต้องตามว่าจะปรับขึ้นเร็วแค่ไหน แต่ส่วนใหญ่ตลาดก็รับรู้ไปแล้วว่าจะปรับขึ้นในธ.ค....ดอกเบี้ยของเราไม่จำเป็นต้องไปตามสหรัฐฯ ตลอด ยังพอจะมี gap อยู่ ส่วนกรณี Out Flow ก็มีการทยอยปรับตัวไหลออกไปบางแล้ว หากเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยจริง ตลาดคงไม่ผันผวนมาก และเรามีเครื่องมือบริหารจัดการได้" ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ